Posted on

สิ่งที่กำหนดราคาพลอยมีอะไรบ้าง

พลอยนั้นมีมากมายหลายชนิดและมีราคาแตกต่างกัน แต่สิ่งที่ทำให้พลอยมีราคาแตกต่างกันจะสูงหรือต่ำนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับชนิดของพลอย สีของพลอย หรือ ขนาดของพลอยเพียงเท่านั้น ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อีก

ปัจจัยที่มีผลต่อราคาของพลอย ได้แก่ สี (Color) ความสะอาด (Clarity) ความโปร่งแสง (Transparency) รูปร่าง (Shape) รูปแบบการเจียระไน (Cutting Style) คุณภาพการเจียระไน (Cut Quality) น้ำหนักหรือขนาดของพลอย (Carat weight) ความสว่าง (Brillance หรือ Brightness) การปรับปรุงคุณภาพพลอย (Treatment Status) แหล่งที่มาของพลอย (Place of Origin) ปริมาณสิ่งเจือปน (ได้แก่แร่ทองแดง โครเมียม และวานาเดียม)  และลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ (Distinctness of Phenomena)

สี (Color)

อันที่จริงแล้ว “สี” คือปัจจัยหลักในการกำหนดราคาพลอย แต่ก็ใช่ว่าพลอยเม็ดนั้นมีคุณภาพสีดีแล้วราคาต้องสูงเสมอไป เพราะราคาของพลอยยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ เช่น เนื้อพลอย ขนาด หรือชนิดของพลอยอีกด้วย โดยทั่วไป ถ้าคุณภาพของสีนั้นยิ่งเข้ม ราคาของพลอยก็จะยิ่งสูงขึ้น เช่น มรกตสีเขียวเข้มมีราคาสูงกว่ามรกตสีเขียวอ่อนกว่าเป็นหลายเท่าตัว แม้ว่าทั้งพลอยทั้งสองชิ้นมีคุณลักษณะอื่นๆ เทียบเท่ากัน แต่ถ้าหากเป็นพลอยที่เจียระไนแล้วสีจะต้องมีความเข้มสม่ำเสมอกันทั่วทั้งตัวพลอย

ภาพจาก www.gemtochina.com

แต่ในบางกรณีนั้นขึ้นอยู่กับผู้ซื้อหรือผู้ขายเอง การกำหนดราคาก็อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพพลอย หรือ ลักษณะของสีพลอยเลยก็มี เช่น แซปไฟร์สีน้ำเงินเข้มจากพม่ากลับมีราคาถูกกว่าแซปไฟร์สีน้ำเงินอ่อนจากศรีลังกา แม้ว่าพลอยทั้งสองชิ้นมีคุณสมบัติด้านอื่นพอๆ กัน

โดยทั่วไปแล้วหากพลอยมีสีด่างออกไปทางเทา น้ำตาล หรือดำ จะทำให้ราคาพลอยมีราคาต่ำลง เพราะสีเหล่านี้ไม่เป็นที่โปรดปรานแก่ลูกค้าส่วนใหญ่ แต่แม้กระนั้นแล้วก็ยังมีพลอยสีน้ำตาลหรือสีเทาบางชิ้นกลับมีราคาสูงลิ่วได้ด้วยเช่นกัน หากได้รับการเจียระไนอย่างน่าทึ่ง และถ้ายิ่งเป็นสีที่หายาก ยิ่งทำให้พลอยมีราคาสูงขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในโอปอล (Opal) สีแดงเป็นสีที่หายากที่สุด และมีราคาสูงที่สุด ในแอมมอโลต์ (Ammolite) สีน้ำเงินเป็นสีที่หายากที่สุด จึงมีราคาแพงที่สุด

แต่ส่วนใหญ่แล้ว ถ้าคุณภาพของพลอยค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว ปัจจัยเรื่องสีพลอยจะไม่ได้มีผลกระทบอะไรต่อการกำหนดราคานัก ยกตัวอย่างเช่น พลอยมรกต สีอาจจะไม่ได้มีผลต่อราคานักหากพลอยมีคุณภาพต่ำ แต่ถ้าเป็นมรกตเกรดดี และถ้าเปรียบเทียบในหมู่มรกตเกรดดีด้วยกัน สีจะมีผลต่อการกำหนดราคา หากสีอ่อน เข้ม แตกต่างกัน พลอยที่เนื้อดีและสีเข้มที่สุดก็จะมีราคาสูงกว่า ในขณะที่พลอยมรกตเกรดต่ำด้วยกัน แต่พลอยสีเข้มที่สุดกลับไม่ได้มีราคาที่สูงกว่าพลอยสีอ่อนกว่าแต่อย่างใด เพราะคุณภาพพลอยเป็นเกรดต่ำ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พลอยเกรดต่ำ หรือพลอยที่มีราคาถูกก็ไม่ได้เป็นพลอยที่ไม่น่าซื้อเสมอไป เพราะยังน่าดึงดูดได้หากได้รับการเจียระไนให้สวยงาม

ความสะอาด (Clarity)

พลอยที่เกิดจากธรรมชาติย่อมมีตำหนิที่เกิดจากธรรมชาติ เช่นเดียวกับเพชร พลอยจึงได้มีการแบ่งเกรดความสะอาดของพลอยด้วย เป็นการแบ่งระดับความปราศจากสิ่งตำหนิเจือปน หรือมลทินในเนื้อพลอย โดยปกติแล้ว ตำหนิที่น้อยกว่า เล็กกว่า และสังเกตได้น้อยกว่า ราคาก็จะยิ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะในอัญมณีที่มีราคาสูง เช่น ทับทิมและมรกต

อย่างไรก็ตาม ความสะอาด หรือค่า Clarity ในพลอย มักเป็นที่ยอมรับได้มากกว่า Clarity ในเพชร และราคาของพลอยมักขึ้นอยู่กับรูปลักษณ์ของพลอยมากกว่าเกรดความใส

ความโปร่งแสง (Transparency)

ความโปร่งแสง คือ ความสามารถที่แสงจะผ่านเข้าไปในตัวพลอย โดยการที่แสงจะสามารถผ่านเข้าไปที่พลอยได้ในลักษณะใดก็ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติความโปร่งแสงของพลอยเม็ดนั้นๆ เอง

ความโปร่งแสงของพลอยมีตั้งแต่ระดับที่พลอยมีความใส หรือโปร่งใส มัว โปร่งแสง กึ่งโปร่งแสง ไปจนถึงทึบแสง

พลอยที่โปร่งใส แสงจะผ่านเม็ดพลอยได้ทั้งหมด หากพลอยทึบแสง แสงจะไม่ผ่านพลอยเลย แต่ถ้าหากพลอยนั้นกึ่งโปร่งแสง แสงจะผ่านพลอยได้กึ่งนึง เปรียบเสมือนการมองเห็นในลักษณะคล้ายกระจกฝ้า โดยปกติแล้วยิ่งพลอยมีความโปร่งแสงสูงเท่าใด พลอยก็จะยิ่งมีค่ามากขึ้นเท่านั้น

แต่ก็ยังพบว่าในทับทิมและแซปไฟร์ที่เป็นพลอยทึบแสง อาจมีราคาสูงกว่าทับทิมและแซปไฟร์ที่โปร่งแสงมากกว่า หรือมีพลอยชนิดอื่นๆ เช่น โอปอลสีดำซึ่งเป็นพลอยทึบแสง มักจะมีมูลค่าสูงกว่าพลอยอื่นๆ ที่มีความโปร่งแสงสูงกว่า เป็นต้น

ความโปร่งแสงนั้นมีผลกระทบต่อมูลค่าพลอยอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน มรกต ทับทิม แซปไฟร์ โอปอล หยก พลอยสตาร์ และตาแมว ตัวอย่างเช่น แซปไฟร์ที่ทึบแสงมีราคา 1,500 บาท แต่ถ้าหากว่าแซปไฟร์ชนิดเดียวกันนี้มีคุณสมบัติโปร่งแสงมากกว่า อาจขายได้ราคาเป็นแสงเลยก็ได้ ถ้าหากเป็นพลอยที่โปร่งใส

รูปร่าง (Shape)

รูปร่าง คือโครงร่างของพลอยด้านหงาย (เช่น ทรงกลม หรือ ทรงหยดน้ำ) ปกติแล้วสี (Color) ความสะอาด (Clarity) และความโปร่งแสง (Transparency) มีบทบาทในการกำหนดราคาพลอยมากกว่ารูปร่าง (Shape) ลักษณะการเจียระไน (Cutting Style) และคุณภาพการเจียระไน (Cut Quality) แต่ปัจจัยสามประการหลังนี้อาจส่งผลต่อมูลค่าของพลอยด้วยก็ได้

ภาพ จาก prestigegemsstore.com

รูปร่างจะมีต่อราคาพลอยแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับผู้ขาย ความหลากหลายของพลอย น้ำหนักพลอย คุณภาพพลอย และความต้องการในตลาด

ทับทิมรูปทรงกลม (Round) 1 กะรัต คุณภาพสูง อาจมีราคาสูงกว่าทับทิมรูปไข่ (Oval) 10%-20% เนื่องจากทรงกลมมีความต้องการมากกว่า และเนื่องจากการเจียระไนทรงกลมนั้นพลอยต้องสูญเสียน้ำหนักมากกว่า

ในพลอยขนาดเล็กและคุณภาพต่ำรูปร่างพลอยอาจไม่มีผลกับราคา เรื่องของการกำหนดราคารูปร่างนั้นซับซ้อน แต่ถ้าหากว่าคุณต้องการประเมินราคาพลอย คุณจะต้องเปรียบเทียบพลอยที่ “รูปร่างแบบเดียวกัน” และมี “รูปแบบการเจียระไน” เป็นแบบเดียวกัน

รูปแบบการเจียระไน (Cutting Style)

รูปแบบการเจียระไน เป็นรูปแบบในการเจียระไนพลอย หรือเหลี่ยมพลอย โดยทั่วไปแล้วพลอยที่ได้รับการเจียระไนแบบหลังเบี้ย (Cabochon) และลูกปัดที่ไม่มีเหลี่ยมมักจะมีราคาต่ำกว่าพลอยที่ได้เจียระไนเพราะมีค่าใช้จ่ายในการเจียระไนน้อย อีกเหตุผลหนึ่งที่มักมีราคาต่ำกว่าคือมักเป็นพลอยหรือหินที่มีคุณภาพต่ำซึ่งไม่เหมาะสำหรับการเจียระไน แต่เรายังสามารถพบเพลอยหรือหินหลังเบี้ยที่มีเกรดคุณภาพสูงในเครื่องประดับโบราณด้วย

พลอยที่ได้รับการออกแบบให้มีรูปแบบเจียระไนโดยนักออกแบบ หรือพลอยที่มีแบรนด์ของมันออกมาโดยเฉพาะ มักจะขายได้มากกว่าพลอยที่เจียระไนเป็นรูปทรงทั่วไป รูปแบบการเจียระไนพลอยถือว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาพลอยด้วยเช่นกัน เช่น อเมทิสต์และโทแพซสีฟ้า โทแพซสีฟ้าที่ได้รับการเจียระไนอย่างดีในทรงรีแบบมาตรฐาน ราคาอาจจะอยู่ที่ $20 และอาจขายได้ในราคา $100 หากมีลักษณะการเจียระไนที่ไม่เหมือนใคร หรือทำเป็นรูปแกะสลักโดยช่างเจียระไนที่มีชื่อเสียง เป็นต้น

คุณภาพการเจียระไน (Cut Quality)

คุณภาพการเจียระไนพลอย หมายถึง สัดส่วนและการแต่งพลอย เป็นปัจจัยสำคัญเพราะส่งผลต่อความแวววาวและสีสันของพลอย แต่ก็ไม่ได้ส่งผลต่อราคาของพลอยเสมอไป ในเรื่องของคุณภาพการเจียระไนพลอยมีข้อพิจารณาหลักๆ อยู่ 2-3 ประการ

ภาพ จาก prestigegemsstore.com

1. ตอนที่พลอยหงายขึ้น คุณเห็นสีพลอยทั่วทั้งเม็ดหรือไม่? พลอยที่เจียระไนอย่างดีต้องไม่มีพื้นที่สีดำขนาดใหญ่และต้องไม่มีหน้าต่างที่ชัดเจน (หน้าต่าง หมายถึง พื้นที่สีซีดจางตรงกลางพลอย ซึ่งทำให้คุณมองทะลุผ่านเม็ดพลอยได้) โดยทั่วไป ยิ่งพลอยมีหน้าต่างมาก ยิ่งมีการตัดที่แย่ และนอกจากการดูหน้าต่างพลอยแล้ว ยังมีเรื่องการกระจายของสีของเม็ดพลอยอีกด้วย พลอยที่กระจายสีได้ไปทั่วทั้งเม็ดพลอยบ่งชี้ถึงคุณภาพการเจียระไนที่ดี

2. หากจะซื้อพลอยสักเม็ด คุณต้องเสียเงินจ่ายส่วนที่เกินออกมาด้วยหรือไม่? สมมติว่าในด้านที่พลอยหงายหน้า มีพลอย 2 ก้อนที่มีขนาดเท่ากัน คิดราคาตามน้ำหนักกะรัต พลอยเม็ดหนึ่งได้รับการเจียระไนอย่างดี แต่พลอยอีกเม็ดหนึ่งมีก้นที่ลึกและอ้วนเกินไป และมีน้ำหนักมากกว่าสองเท่า ดังนั้นแล้วพลอยที่ลึกเกินไปจะมีราคาเป็น 2 เท่า แม้ว่าจะมีขนาดของพลอยด้านหงายหน้าเท่ากันก็ตาม นอกจากนี้ พลอยอาจจะวางตั้งไม่ได้ด้วยและอาจดูมืดเกินไป

คุณควรรู้ด้วยว่าพลอยที่มีประกายและสีที่ดีมักจะได้รับการเจียระไนให้ลึกกว่าเพชร และถ้าหากพลอยเจียตื้นเกินไปจะทำให้มีหน้าต่าง

น้ำหนักหรือขนาดพลอย (Carat Weight หรือ Stone Size)

น้ำหนักหรือขนาดของพลอย ถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการกำหนดราคาพลอย ในกรณีส่วนใหญ่แล้วยิ่งน้ำหนักกะรัตมีค่ามากขึ้น ราคาพลอยก็สูงมากขึ้นด้วย หรืออย่างที่เรารู้กันว่า การคิดราคาพลอยนั้นมักจะคิดกันตามราคาน้ำหนักกันอยู่แล้ว โดย 1 กะรัต มีค่าเท่ากับ 1/5 กรัม หรือ 0.20 กรัม พลอยที่โปร่งแสงไปจนถึงกึ่งทึบแสงจำนวนมาก เช่น หยก มาลาไคต์ และหินคาลซิโดนี มักจะขายเป็นชิ้นหรือมีราคาตามขนาดของหิน ไม่ได้ขายตามน้ำหนักกะรัต และพลอยที่มีน้ำหนักไม่เกินครึ่งกะรัตมักจะคิดราคาตามขนาดมิลลิเมตร

ความสว่าง (Brilliance หรือ Brightness)

ความสว่าง คือ ความเข้มและปริมาณของแสงที่มาจากพลอย ในพลอยต่างๆ เช่น โอปอล (Opal) แอมโมไลต์ (Ammolite) และอาเกตไฟ (Fire Agate) ถือว่าความสว่างเป็นปัจจัยที่สำคัญในการกำหนดราคาพลอย อย่างความสว่างของโอปอลจะมีเกณฑ์ความสว่างในระดับ 1-5 อีกด้วย โดย 5 เป็นระดับความสว่างที่สุด ซึ่งจะเห็นว่าพลอยก็ยังมีการแบ่งระดับเกรดความสว่างเช่นเดียวกับการแบ่งเกรดความสว่างในเพชรด้วย แม้ในพลอย ความสว่างไม่ได้เป็นส่วนที่สำคัญต่อการการเจียระไนเท่ากับเพชร แต่ก็ยังถือว่าเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญในการตีราคาพลอย

การปรับปรุงคุณภาพพลอย (Treatment Status)

หากคุณต้องการซื้อพลอยสักเม็ด เรื่องการปรับปรุงคุณภาพของพลอยก็เป็นประเด็นที่ควรพิจารณา มีข้อคำนึงอยู่ 3 ประการ ดังนี้

1. พลอยผ่านการเผา หรือ ไม่เผา? พลอยได้ผ่านกระบวนการอื่นๆ นอกเหนือจากการทำความสะอาด การเจียระไน หรือการขัดเงาเพื่อให้ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้นหรือไม่ พลอยส่วนใหญ่มักได้รับการปรับปรุงคุณภาพโดยมนุษย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง พลอยที่ไม่ผ่านการเผามักจะมีมูลค่าสูงเพราะหายากและเป็นธรรมชาติ แต่โดยทั่วไปแล้วพลอยที่ไม่ผ่านการเผาจะไม่ค่อยสวยและมักจะมีมูลค่าน้อยกว่า และขายได้ยากกว่าพลอยที่เผาแล้ว เพราะพลอยที่เผาแล้วนั้นดูน่าดึงดูดและสวยงาม นี่จึงเป็นเหตุผลที่พลอยควรได้รับการเผานั้นเอง

2. พลอยผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยวิธีใดมาบ้าง? การปรับปรุงคุณภาพพลอยนั้นมีหลายวิธี และไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่เท่ากันทั้งหมด วิธีการย้อมสีและการเติมโพรงพลอยเป็นวิธีที่ส่งผลเสียต่อมูลค่าของพลอยมากกว่าวิธีอื่นๆ การเผาซึ่งให้ความร้อนนั้นเป็นวิธีที่ยอมรับกันดี ดังนั้นคุณจึงควรรู้ว่าพลอยที่จะซื้อนั้นเคยผ่านการปรับปรุงคุณภาพแบบไหนมาก่อนเพื่อประเมินมูลค่าของมัน

3. ขอบเขตของการปรับปรุงคุณภาพพลอยคืออะไร? หากพลอยผ่านการปรับปรุงคุณภาพมาก่อน คุณควรทราบข้อชัดเจนของการปรับปรุงนั้นด้วย ยกตัวอย่างในการอุดรอยร้าวของมรกต ในทางปฏิบัตินั้นพบว่ามรกตส่วนใหญ่มักมีรอยร้าวเล็กๆ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่จะต้องเติมน้ำมัน ขี้ผึ้ง หรือสารประเภทอีพ็อกซี่เพื่อปกปิดรอยร้าวเหล่านี้ และบางครั้งก็เพิ่มความทนทานให้แก่พลอยด้วย มรกตที่คุณเห็นในการซื้อขายมักได้รับการปรับปรุงเรื่องความใส ซึ่งอาจไม่ได้มีการระบุไว้

โดยธรรมชาติแล้วพลอยที่ได้รับการเติมแต่งเล็กน้อยจะมีค่ามากกว่าพลอยที่มีปริมาณของเนื้อพลอยทั่วทั้งหินอยู่แล้ว ดังนั้นห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีจึงจะระบุขอบเขตของกระบวนการเติมแต่งพลอย หรือการปรับปรุงพลอยลงไปไว้ในเอกสารด้วยว่าพลอยผ่านวิธีการต่างๆ มาในปริมาณเล็กน้อย ปานกลาง มีนัยสำคัญ หรือไม่มีเลย

แหล่งกำเนิดพลอย (Place of Origin)

แหล่งกำเนิดพลอย อาจหมายถึงประเทศ พื้นที่ หรือเหมืองที่ขุดพลอย ในกรณีส่วนใหญ่แหล่งที่มาของพลอยมักไม่สำคัญต่อการกำหนดราคา แต่คุณภาพต่างหากที่สำคัญ แต่มีพลอยบางประเภท เช่น ทับทิม ไพลิน มรกต และ ทัวร์มาลีนสีน้ำเงินอมเขียว แหล่งกำเนิดอาจส่งผลต่อราคาได้หากพลอยมีคุณภาพสูงและมาพร้อมกับหนังสือรับรองจากห้องปฏิบัติการที่ได้ระบุแหล่งที่มาของพลอยด้วย ตัวอย่างเช่น แซปไฟร์คุณภาพดีจากแคชเมียร์จะขายในราคาระดับพรีเมียมเพราะความหายากและสีที่โดดเด่น

ปริมาณทองแดง โครเมียม และวานาเดียม

ปริมาณทองแดง โครเมียม และวานาเดียม (Copper, chromium, and vanadium content) อาจส่งผลต่อราคาของทัวร์มาลีนสีน้ำเงินไปจนถึงสีเขียว หากรายงานจากห้องปฏิบัติการระบุว่าพลอยมีการแต่งสีด้วยทองแดงเป็นหลักก็สามารถขายได้หลายพันดอลลาร์ต่อกะรัต โดยขึ้นอยู่กับขนาดและคุณภาพ โดยทัวร์มาลีนเหล่านี้จะเรียกว่าทัวร์มาลีน Cuprian หรือทัวร์มาลีนที่มีทองแดง (copper-bearing tourmalines)

ทัวร์มาลีนที่มีสีโครเมียมหรือวานาเดียม ได้รับการตั้งชื่อว่า ทัวร์มาลีน chorme โดยสถาบันอัญมณีศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (GIA) และสมาพันธ์อัญมณีโลก (CIBJO) โดยทั่วไปจะมีราคาสูงกว่าทัวร์มาลีนสีเขียวอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด

แต่มีข้อยกเว้นประการหนึ่งคือทัวร์มาลีนสีเขียวขนาดกลางบางส่วนที่ขุดได้ในอัฟกานิสถาน ขนาดที่มากกว่า 5 กะรัต จะดูสว่างกว่าและมีความน่าดึงดูดใจมากกว่าทัวร์มาลีนแบบโครเมียม ดังนั้นในบางครั้งแล้วทัวร์มาลีนที่ไม่ใช่โครเมียมเหล่านี้อาจมีราคาที่เทียบเคียงหรือสูงกว่าได้ด้วย

ลักษณะเฉพาะ (Distinctness of Phenomena)

ลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ  คือ ความโดดเด่นที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ (Distinctness) ของพลอยเอง ยกตัวอย่างเช่น

ตาแมว (Chatoyancy) : มีแถบแสงสะท้อนในหลังเบี้ย เกิดขึ้นเมื่อแสงจ้าตกกระทบกับรอยแยกคล้ายเข็มหรือท่อกลวงที่ขนานกันภายในพลอยเอฟเฟกต์ตาแมวอาจพบได้ในไครโซเบอริล (chrysobery) มรกต (emerald) อะความารีน (aquamarine) อะพาไทต์ (apatite) ควอตซ์ (quartz) และทัวร์มาลีน (tourmaline)

ภาพ จาก www.stonemania.co.uk

พลอยสตาร์ (Asterism): แถบแสงสะท้อนที่ตัดกันตรงกลางเป็นรูปดาวที่มีลำแสง 4, 6 หรือ 12 ดวง

ภาพ พลอยสตาร์ จาก http://www.nordskip.com/rose.html

Adularscence: เอฟเฟ็กต์แสงลอยเลื่อนที่เกิดจากความไม่สม่ำเสมอของโครงสร้างในหินมูนสโตน (moon stone) ซึ่งทำให้แสงกระจายในหิน และยังพบว่ามูนสโตนที่มีทรงโดมสูงบางชิ้นจะสร้างเอฟเฟกต์ตาแมว

ภาพ จาก johnjbradshaw.com

Aventurescens: เอฟเฟ็กต์แวววาว เกิดจากแสงที่สะท้อนจากการรวมตัวของแผ่นเปลือกโลกขนาดเล็ก ในซันสโตน (sunstone) การรวมตัวโดยทั่วไปคือเกล็ดของทองแดงหรือเฮมาไทต์ และในเวนทูรีน (venturine) ควอตซ์ (quartz) เกิดจากไมกาสีเขียวชนิดหนึ่ง

ภาพ จาก eragem.com

labradorescence : แสงวาบของสีในลาโบโรโดไรท์ (labradorite) หรือสเปกโทรไลต์ (spectrolite) ที่มองเห็นได้จากมุมมองที่แน่นอน เกิดจากการแทรกสอดของแสงผ่านโครงสร้างเป็นชั้นๆ ของลาบราดอไรต์

ภาพ จาก luxe.digital

ปรากฎการณ์การเปลี่ยนสี (Color Change): บางครั้งเรียกปรากฎการณ์นี้ว่าเอฟเฟ็กอเล็กซานไดรต์ (Alexandrite) การเปลี่ยนสีที่เกิดขึ้นเมื่อแหล่งกำเนิดแสงเปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น อเล็กซานไดรต์ (alexandrite)โกเมน (garnet) หรือแซปไฟร์ (sapphire) อาจปรากฏเป็นสีม่วงภายใต้แสงจากหลอดไส้ แต่เป็นสีเขียวในเวลากลางวันหรือเมื่อได้รับแสงจากหลอดฟลูออเรสเซนต์

ภาพ จาก www.thepearlsource.com

โดยทั่วไป หากปรากฏการณ์ยิ่งคมชัดและชัดเจนมากขึ้น หินหรือพลอยก็ยิ่งมีค่ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม อย่าคาดหวังว่ามันจะมีราคาสูงกว่าเสมอไป เพราะปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นของพลอยอาจะเป็นสิ่งที่มนุษย์ทำขึ้นมาหรือเป็นพลอยสังเคราะห์ซึ่งทำให้มีราคาต่ำกว่า ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นพลอยสตาร์ที่เห็นแฉกคมชัดกว่านั้นย่อมมีมูลค่ามากกว่า แต่ถ้าหากมันเป็นพลอยสังเคราะห์ก็จะมีมูลค่าน้อยกว่า แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วพลอยสตาร์ธรรมชาติจะไม่ได้สมบูรณ์แบบเท่ากับพลอยสตาร์ที่มนุษย์สร้างขึ้นก็ตาม

Posted on

มาดูกันว่าเพชรแท้และเพชร CZ ต่างกันอย่างไรบ้าง

ได้ของปลอมหรือลาภลอย? Daniel Anania จาก Anania Jewellers ในซิดนีย์แบ่งปันภาพแหวนสองวงเคียงข้างกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าการแยกแยะเพชรแท้และเพชรปลอมด้วยตาเปล่านั้นยากเพียงใด อันหนึ่งมีมูลค่า 10,950 เหรียญออสเตรเลีย (ราวๆ 240,000 บาท) ในขณะที่อีกอันมีมูลค่าเพียง 500 เหรียญออสเตรเลีย (ราวๆ 11,000 บาท)

อ้างอิง จาก www.dailymail.co.uk

ถ้าหากคุณชื่นชอบหรือหลงใหลในเรื่องการแต่งกายด้วยเครื่องประดับ คุณคงรู้จักเพชรหรือพลอย CZ (ซีแซด) หรือเพชรคิวบิกเซอร์โคเนีย (Cubic Zirconnia) และคุ้นเคยดีอยู่แล้วว่า CZ เป็นอัญมณีสังเคราะห์ชนิดหนึ่งที่ทำขึ้นมา มีรูปลักษณ์คล้ายเพชรมาก

ยังพบว่ามีชื่อเรียกอื่นๆ ที่คนไทยเรียกว่า “เพชรรัสเซีย”  “เพชรสวิส”  “เพชรเบลเยี่ยม” อีกด้วย เพราะถูกเรียกตามแหล่งประเทศที่ผลิต ซึ่งก็มักจะได้แก่ รัสเซีย สวิสเซอร์แลนด์ อเมริกา และประเทศอื่นๆ ทางแถบยุโรปตะวันออก เป็นต้น 

Cubic Zirconia นั้นได้มีมานานแล้ว โดยปัจจุบันนั้นเป็นที่นิยมและเป็นที่รู้จักเนื่องจากมีราคาย่อมเยาว์และให้ความวิบวับแก่ผู้สวมใส่ได้เหมือนเพชรแท้  แต่ก็ยังเป็นเพียงอัญมณีสังเคราะห์ประเภทหนึ่งที่เป็นตัวเลือกให้คุณนำไปใช้สวมใส่แทนเพชรแท้ได้  มันยังเป็นอัญมณีสังเคราะห์คนละประเภทกับเพชรสังเคราะห์ (Lab-created diamond) ที่ทำขึ้นมาเพื่อเลียนแบบเพชรแท้โดยเฉพาะจริงๆ  มีข้อแตกต่างกันระหว่าง เพชร CZ กับ เพชรสังเคราะห์ คือ โครงสร้างแร่ที่แตกต่างกันมาก เพชรสังเคราะห์จะมีโครงสร้างเป็นคาร์บอนเหมือนกันกับเพชรแท้ ในขณะที่ CZ เกิดจากรูปแบบผลึกลูกบาศก์ของเซอร์โคเนียมไดออกไซด์ (zirconium dioxide : ZrO2) ที่มนุษย์สร้างขึ้นและไม่มีสี  มีคุณภาพหลายเกรด

ภาพ โครงสร้างของ Cubic Zirconia กับ เพชร จาก www.stellarnet.us

เรื่องราว CZ เริ่มมาตั้งแต่ปี 1937 เมื่อผลึกธรรมชาติ (Cubic) ของแร่ Zirconim Oxide ถูกค้นพบโดยนักวิทยาศาตร์ชาวเยอรมัน แต่ต้องรอจนถึงปี 1970 เมื่อนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียสามารถจำลองผลึกแร่ชนิดนี้ได้ในห้องแล็บ 

ปี 1980 CZ ได้ถือกำเนิดขึ้นและเป็นที่ยอมรับในวงการเครื่องประดับเมื่อบริษัท Swarovski ซึ่งมีชื่อเสียงทางด้านผลิต Crystal เริ่มผลิต CZ สำหรับตลาดผู้บริโภคในวงกว้าง กระทั่งการผลิต CZ ได้พัฒนามาจนสามารถมีได้ทุกเฉดสี

ภาพ เฉดสี Swarovski Zirconia จาก www.bluestreakcrystals.com

ความแตกต่างระหว่างเพชร CZ และเพชรแท้นั้น คุณสามารถเปรียบเทียบได้จากคุณสมบัติทางกายภาพ และคุณสมบัติทางเคมี  หากทราบถึงข้อแตกต่าง ก็จะช่วยให้คุณตัดสินใจเลือกซื้อเอาไปทำเครื่องประดับได้อย่างเหมาะสม 

เรื่องของความสะอาด (Clarity)
ความสะอาด หมายถึง ความใสของเพชรหรือพลอย เป็นปริมาณของมลทิน หรือแร่ธาตุที่ติดมาอยู่ภายในเพชรหรือพลอย  ซึ่งโดยปกตินั้น หากเป็นเพชรแท้ที่เกิดตามธรรมชาตินั้นจะต้องถูกขุดขึ้นมาจากพื้นดิน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เพชรเหล่านั้นจะมีความไม่สมบูรณ์ และเพชรจำนวนมากที่พบก็ไม่เหมาะสำหรับเป็นเครื่องประดับ เพชรที่ขุดได้อาจดูเหลืองเล็กน้อยหรือหมองได้ เพชรเกรดสูงสุดก็จะเป็นเพชรที่มีความใสสะอาดหมดจด เพชรที่ไร้ตำหนินั้นหายากมากและมีราคาแพงมาก แต่เพชร CZ นั้นผลิตขึ้นในห้องปฏิบัติการ จึงปราศจากข้อบกพร่องตามธรรมชาติที่พบในเพชรแท้ ซึ่งหมายความว่ามีความใสเกือบสมบูรณ์แบบ ราวกับเพชรที่ไร้ตำหนิ สิ่งนี้อาจทำให้ CZ ดูปลอมได้เพราะดูสมบูรณ์แบบเกินไป แต่ถ้าหากคุณต้องการใช้เพชรหรือพลอยที่เน้นความใสสะอาดจริงๆ CZ ก็อาจจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมมากกว่า 

สี (Color)
ปกติแล้วผู้ซื้อเพชรจะพยายามเลือกเพชรให้ขาว  แต่ว่าเพชรแท้มักจะไม่ค่อยขาวสนิท แม้แต่เพชรคุณภาพสูงก็อาจมีสีเหลืองเล็กน้อยได้ เพราะเพชรแท้จะมีแร่ธาตุอื่นๆ รวมอยู่ด้วย แต่ในทางกลับกัน เพชร CZ จะได้รับการผลิตให้ไร้สีโดยสิ้นเชิง และพบว่ามักจะสะท้อนแสงสีส้ม ซึ่งทำให้บ่งบอกได้ง่ายๆ ว่า CZ ไม่ใช่เพชรแท้


ความส่องสว่าง (Brilliance)
วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะแยกเพชรแท้และ CZ ออกจากกันได้ คือการตรวจสอบภายใต้แสงธรรมชาติ เพชรแท้จะมีความแวววาวเป็นธรรมชาติโดยให้แสงสีขาวบริสุทธิ์ ในขณะที่ CZ  ให้แสงสีรุ้งอย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากการกระจายแสงที่มากเกินไป แต่คำถามที่ว่าจะใช้เพชรแท้ หรือ CZ ดีกว่ากันนั้นก็ขึ้นอยู่กับความชอบ ว่าคุณชอบแสงสีขาวแบบเพชรหรือชอบสีสว่างๆ ของ CZ มากกว่ากัน

ความทนทาน (Durability)
เพชรเป็นแร่ธาตุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่แข็งที่สุดในโลก โดยมีระดับความแข็งตามสเกลของ Mohs อยู่ในระดับ 10 ความทนทานและความยืดหยุ่นสูงทำให้เพชรเหมาะนำไปใช้ทำเครื่องประดับสำหรับงานหมั้น แหวนแต่งงาน หรือเครื่องประดับที่ต้องสวมใส่ทุกวัน โดยเพชรนั้นไม่ต้องอาศัยการดูแลรักษามากมายก็สามารถคงความงามและประกายวิบวับได้อย่างดี  แต่ CZ มีค่าเพียง 8.5 ในสเกล Mohs ซึ่งหมายความว่ามีความทนทานในระดับหนึ่ง แต่เทียบไม่ได้กับเพชรแท้  (แข็งพอ ๆ กับพลอยเนื้อแข็ง เช่น ทับทิม และแซปไฟร์) และความคงทนจะไม่มีอายุยาวไปกว่าเพชรและแน่นอนว่าจะต้องมีรอยและขุ่นมัวเมื่อเวลาผ่านไป CZ จึงไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการนำไปสวมใส่เป็นเครื่องประดับทุกวันได้อย่างเพชร

ข้อควรพิจารณา

  • สุดท้ายแล้ว CZ จะสูญเสียประกายวิบวับ และขุ่นมัวลงเนื่องจากการขีดข่วน สิ่งสกปรก สบู่ สารตกค้าง และการสัมผัสกับออกซิเจน ขึ้นอยู่กับสาเหตุของความหมองมัว ซึ่งมีโอกาสในการฟื้นฟูให้ CZ ยังคงอยู่ในสภาพเดิมนั้นมีทั้งที่เป็นไปได้หรือไม่ได้ก็ได้ 
  • เหลี่ยมเพชร ถ้าใช้กล่องขยาย10X ส่องดูจะเห็นว่าเหลี่ยมของเพชรแท้คมกว่า CZ 
  • เพชรแท้ คนที่ดูไม่เป็นจะเสี่ยงถูกหลอกได้ว่าเป็นเพชรเกรดดี Belgium Cut แต่ที่จริงอาจเป็นเพชร Indian Cut เกรดต่ำลงมาก็ได้ 


ความหนาแน่น (Density)
Cubic zirconia มีความหนาแน่นมากกว่าเพชรเล็กน้อย ผู้ขายอัญมณีจะสามารถแยกแยะความแตกต่างของทั้งสองได้อย่างง่ายดายโดยใช้ตาชั่งเพื่อชั่งน้ำหนัก ในน้ำหนักกะรัตที่เท่ากันนั้น CZ จะดูมีขนาดเล็กกว่าเพชรเล็กน้อย

ราคา (Price)
เหตุผลหลักที่ CZ เป็นที่นิยมมากก็คือราคาที่ถูกกว่าเพชรแท้มาก โดยเฉลี่ยแล้วCZ 1 กะรัตจะมีราคาประมาณ 1 ใน 100 ของราคาเพชรแท้ 1 กะรัต แต่ว่า CZ นั้นอาจจะเอาไปขายต่อไม่ได้ หรืออาจได้มูลค่าเพียงเล็กน้อย เพราะเป็นอัญมณีสังเคราห์ที่มูลค่าน้อย แต่ในขณะที่เพชรมักจะขายต่อได้อย่างน้อย 50% ของราคาเดิม  

CZ สวยเหมือนเพชรแท้ เวลาสวมใส่คนจะดูไม่ออกว่าเป็น CZ หรือเพชร แต่ราคานั้นต่างกันมาก CZ ราคาหลักร้อยถึงพัน แต่เพชรแท้ราคาหลักหมื่นขึ้นไป 

จากข้อแตกต่างทางคุณสมบัติที่กล่าวมานั้น นักอัญมณีศาสตร์มีความเห็นตรงกันว่า CZ มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับเพชรธรรมชาติมาก สำหรับคนทั่วไปแล้ว หรือแม้แต่นักอัญมณีศาสตร์ แทบจะไม่สามารถแยกความแตกต่างได้ด้วยตาเปล่า
แต่พบว่ามีข้อโต้แย้งระหว่างเพชรแท้ และ CZ ในแง่ของความสวยงาม ซึ่งขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคล บางคนชอบแสงหลากสีสันที่สะท้อนจาก CZ ในขณะที่บางคนชอบแสงสีขาวสว่างจ้าที่ส่องมาจากเพชร ท้ายที่สุดแล้ว ไม่มีคำตอบที่แน่นอนว่าต้องเป็น CZ หรือเพชรที่จะมีความงามมากไปกว่ากัน แม้ว่าความสวยงามของเพชรจะคงทนได้นานกว่า CZ อยู่มากก็ตาม

ดังนั้น หากคุณกำลังมองหาตัวเลือกที่ถูกกว่าเพชร แต่ยังมีรูปลักษณ์คล้ายเพชรพ่วงมาด้วยความสะอาดและสีซึ่งไร้ที่ติ Cubic zirconia จะเป็นตัวเลือกที่สมบูรณ์แบบสำหรับคุณ แต่ถ้าหาก “ความทนทาน” และ “มูลค่าการขายต่อ” ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคุณอยู่ เพชรก็จะยังเป็นอัญมณีที่คุณต้องเลือกอยู่ดี

อ้างอิงเนื้อหา:
https://trulyexperiences.com/blog/cubic-zirconia-vs-diamond/
https://www.umasilver925.com/article/3/เพชร-cz-คืออะไร
https://th.wikipedia.org/wiki/คิวบิกเซอร์โคเนีย

Posted on

การเลือกซื้อเพชรตามหลัก 4C และใบรับรองจาก GIA

หลักการเลือกซื้อเพชรโดยทั่วๆ ไปนั้น ผู้คนจะใช้หลัก 4C โดยมีเกณฑ์พิจารณาอยู่ 4 ประการ ได้แก่ การเจียระไน (Cutting) สี (Color) ความสะอาด (Clarity) และน้ำหนัก (Carat) ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลต่อความงามของเพชร เกรดของเพชรในสี่ด้านจะทำให้คุณทราบถึงคุณภาพของเพชร และความเหมาะสมของราคา

เพราะถ้าหากคุณซื้อเพชรโดยไม่ได้พิจารณาถึงหลัก 4C เลย คุณอาจต้องลงเอยด้วยการ “ใช้จ่ายเงินมากเกินไป” สำหรับการได้เพชรสักเม็ดมาครอบครอง

ที่มาของ “4C”

ครั้งหนึ่งนานมาแล้วที่ยังไม่มีมาตรฐานการประเมินเพชรเกิดขึ้น ผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจะใช้คำเรียก เช่น แม่น้ำ หรือ น้ำ หรือใช้คำอื่นๆ เพื่ออธิบายคุณภาพของเพชร

ในปี 1940 Robert M. Shipley ผู้ก่อตั้ง Gemological Institute of America Inc. (GIA )ได้บัญญัติ 4Cs ขึ้น เพื่อช่วยให้นักเรียนของเขาจดจำปัจจัย 4 ประการ ที่แสดงถึงลักษณะของเพชรที่ได้รับการเจียระไนแล้ว โดย ได้แก่ สี ความใส การเจียระไน และน้ำหนักกะรัต เป็นแนวคิดที่เรียบง่ายแต่ใช้ปฏิบัติได้จริง

จากนั้น ผู้สืบทอดตำแหน่งประธาน Richard T. Liddicoat ได้ขยายงานของเขาโดยการพัฒนา GIA D-to-Z Color Scale และ GIA Clarity Scale สำหรับเพชรที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน นอกจากนี้เขายังได้กำหนดวิธีการทางวิทยาศาสตร์และขั้นตอนในการให้คะแนนคุณภาพของเพชรอย่างเป็นกลาง

การสร้างหลักการประเมินเพชร 4C (Diamond 4Cs) และระบบการแบ่งเกรดของเพชรระดับสากล (GIA International Diamond Grading System) นั้น ทำให้เราสามารถบ่งบอกคุณภาพของเพชรและสื่อสารออกมาได้เหมือนภาษาสากล และในทุกวันนี้ ยังทำให้ลูกค้าที่ซื้อเพชรสามารถรู้ได้อย่างชัดเจนว่าพวกเขากำลังจะซื้ออะไรอีกด้วย

ปัจจุบันนี้หลักการประเมินคุณภาพเพชร 4C เป็นวิธีการสากลสำหรับการประเมินคุณภาพของเพชรทุกแห่งทั่วโลก และในฐานะที่ GIA เป็น ผู้สร้าง 4Cs และระบบการแบ่งเกรดเพชรระดับสากลเอง ทำให้ GIA ได้รับความไว้วางใจจากพิพิธภัณฑ์ โรงประมูล และผู้บริโภคทั่วโลก ในการให้คะแนนสมบัติล้ำค่าจากธรรมชาติ

ภาพ ใบรับรองคุณภาพเพชรที่ออกโดยสถาบัน GIA จาก https://www.stonealgo.com/

ในใบรับรองเพชรที่ออกโดยสถาบัน GIA มีข้อมูลดังนี้

1. ข้อมูลพื้นฐาน ได้แก่
GIA Report Number: หมายเลขระบุเพชร เป็นเลขสำหรับอ้างอิงเพชรจริงของคุณกับ GI
Shape & Cutting Style: อธิบายลักษณะของเพชรทั้งด้านรูปทรง (กลม รี หยดน้ำ หรืออื่นๆ) และลักษณะการเจียระไน (บางรูปทรง เช่น เพชรแบบ Cushion Cut มีหลากหลายรูปแบบ เช่น Brilliant, Modified Brilliant และ Old Mine Brilliant )
Measurement: แสดงความยาว ความกว้าง และความลึกของเพชร หน่วยมิลลิเมตร

2. ผลการให้คะแนน GIA (4C ครอบคลุมในส่วนนี้)
Carat Weight (น้ำหนักกะรัต):
แม้ว่าน้ำหนักมักถูกมองว่าเป็น “ขนาด” ของเพชร (แต่ความยาวและความกว้างนั้นมีความเกี่ยวข้องมากกว่า เนื่องจากเพชร 2 เม็ดสามารถชั่งน้ำหนักเป็นกะรัตได้เท่ากัน และเพชรยังปรากฏขนาดที่แตกต่างได้ชัดเจนกว่าในสายตามนุษย์) หน่วยวัดน้ำหนักเพชร โดย 1 กะรัต เท่ากับ 0.2 กรัม
Color Grade (เกรดสี): เกรดสีของเพชรมีตั้งแต่ D ถึง Z โดยเกรด D จะเป็นสีขาวใส ไม่มีสิ่งเจือปน และเกรด Z เป็นสีออกเหลืองหรือน้ำตาล เกรดสีสำหรับเครื่องประดับเพชรที่พบมากที่สุดคือ D – K โดย D เป็นเกรดที่หายากและแพงที่สุด
Clarity Grade (เกรดความใสของเพชร): จะอธิบายตำหนิ หรือมลทินในเพชรที่อาจส่งผลต่อรูปลักษณ์ของเพชร เกรดสูงสุดคือ FL สำหรับความไร้ที่ติ
Cut Grade (เกรดการเจียระไน): เป็นการกำหนดเกรดการเจียระไนของเพชรทรงกลมเท่านั้น ไม่ใช่ “รูปทรงแฟนซี” เช่น รูปไข่ คุชชั่น หรือการเจียระไนแบบกระจายแสง เกรดการเจียระไนสูงสุดคือการเจียระไนที่ยอดเยี่ยม “Excellence”

3. ข้อมูลเพิ่มเติม นอกเหนือจากหลัก 4C แล้ว GIA ยังให้ข้อมูลจำเพาะของเพชร ได้แก่
การขัดเงา (Polish): หลังจากที่เพชรได้รับการเจียระไนจนเป็นรูปร่างสุดท้ายแล้ว จะได้รับการขัดเงาเพื่อให้มีพื้นผิวเรียบและสว่าง การเจียระไนเพชรเกรดสูงสุดคือ ยอดเยี่ยม (Excellence) ตามด้วย ดีมาก(Very Good) ดี (Good) ปานกลาง (Fair) และแย่ (Poor)
สมมาตร (Symmetry): เพชรที่มีสมมาตรจะดูสมดุล ในขณะที่เพชรที่มีเกรดสมมาตรต่ำ (พอใช้หรือไม่ดี) อาจดูไม่สมดุล
การเรืองแสง (Fluorescence): เพชรบางชนิดให้แสงเรืองแสงเมื่อสัมผัสกับแสงยูวี

4. ข้อคิดเห็นอื่นๆ (Comment)

5. สัดส่วนของเพชร (Proportion)
สัดส่วนของเพชรจะวัดความกว้างและมุมต่างๆ ของเพชร เพื่อช่วยให้คุณเข้าใจคุณภาพการเจียระไนของเพชรได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม มันยังเป็นเรื่องยากมากที่จะประเมินคุณภาพการเจียระไนของเพชรเพียงแค่ดูขนาดเหล่านี้ ซึ่งเป็นอาจยังต้องอาศัยการวัดประสิทธิภาพแสงและประกายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

6. แผนภาพของเพชร (Clarity Characteristics)

7. กุญแจสู่สัญลักษณ์ (Key to Symbol)
จากข้อ 6 หากคุณดูแผนภาพการลงจุด คุณจะเห็น “กุญแจสู่สัญลักษณ์” พร้อมการทำสัญลักษณ์ในสีที่สอดคล้องกันเพื่อกำหนดคุณลักษณะของเพชร ลักษณะจะแสดงตามลำดับความสำคัญจนถึงระดับความชัดเจน ตัวอย่างการอธิบายของ Key to symbol เช่น  หากเพชรมีรูเจาะด้วยเลเซอร์ ก็จะได้รับการระบุเป็นอันดับแรกเพื่อวัตถุประสงค์ในการเปิดเผยข้อมูลของเพชรนั้น

8. สเกล (Grading Scales)
ที่ด้านขวาสุดของใบรับรองจะมีมาตราส่วนการให้เกรดของ GIA ซึ่งแสดงช่วงของเกรดสี ความชัดเจน และการเจียระไน

ดังที่เราได้เห็นส่วนต่างๆ ข้างต้น เราจะเห็นว่าใบรับรองของ GIA นั้นได้แสดงผลประเมินคุณภาพของเพชรตามเกณฑ์ 4C ในส่วนที่ 2 แต่คุณสามารถพิจารณาถึงเกณฑ์ทั้ง 4 ได้ดังนี้

การเจียระไน (Cutting) คือ เกณฑ์ที่สำคัญที่สุด

การเจียระไน อาจเป็นเกณฑ์ที่สำคัญที่สุดในการพิจารณาคุณภาพเพชรเพราะว่ามันส่งผลต่อความงามของเพชร เป็นการพิจารณาคุณภาพของเหลี่ยมมุม สัดส่วน เหลี่ยมเพชรที่สมมาตร ประกายไฟ และรายละเอียดการตกแต่งของเพชร ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการเปล่งประกายของเพชร ควบคู่ไปกับความสวยงามโดยรวม

ความกว้างและความลึกของเพชรที่มีผลต่อการสะท้อนของแสง หากบางเกินไป แสงจะหายไปที่ด้านล่างหน้าจะมืด หากหนาเกินไป แสงจะหายไปทางด้านข้าง แต่ถ้าเพชรได้รับการเจียระไนอย่างดี จะทำให้เพชรเปล่งประกายขึ้นมาด้านบน เมื่อกระทบแสงจะส่องประกายเจิดจรัสมายังผู้สวมใส่

แผนภูมิการเจียระไนเพชร GIA แบ่งเกรดการเจียระไนเพชรเป็น 5 ระดับ ได้แก่ ยอดเยี่ยม (Excellent) ดีมาก (Very Good) ดี (Good) พอใช้ (Fair) และแย่ (Poor)

แม้ว่าเพชรสองเม็ดจะได้รับเกรดเดียวกัน แต่การเจียระไนนั้นจะแตกต่างกันอย่างมาก ในบางครั้ง การเจียระไนเพชรอาจเล็งไปที่น้ำหนักกะรัตสูงสุด ปล่อยให้เพชรลึกหรือตื้นเกินไปเพื่อการสะท้อนแสงที่ดีที่สุด ในบางครั้ง เพชรอาจถูกเจียระไนเพื่อลดจำนวนกะรัตให้น้อยที่สุด ปรับปรุงความใส แต่ให้ประกายแวววาวสูงสุด แม้แต่เพชรที่เจียระไนในอุดมคติก็อาจมีโทนสีเหลืองที่เห็นได้ชัดเจนเกินไปและทำให้เพชรดูไม่งาม

คุณควรยกให้การเจียระไนเป็นเกณฑ์ที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นตัวบ่งชี้ความงามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเพชรแล้ว
ต่อให้เพชร 2 กะรัต ที่ไม่มีตำหนิหรือตกแต่งสีอาจดูหมองได้หากไม่ได้รับการเจียระไนให้ดี

เพชรที่ดีควรจะได้รับการระบุเกรดการเจียระไนว่า “ยอดเยี่ยม” แต่ทั้งนี้ เพชรทั้งหมดที่ขายทางออนไลน์มักเป็นเพขรเกรดเจียระไนยอดเยี่ยมเพียง 55% มีบางอันสวย ในขณะที่บางอันก็ธรรมดา

สี (Color) มีผลต่อราคาเช่นกัน

สีของเพชรแบ่งตามความขาวของเพชรหรือความไม่มีสี GIA ได้แบ่งเกรดสีเพชรจาก D ถึง Z โดย D เป็นเพชรที่ไม่มีสีมากที่สุด ขาวใสมากที่สุด และ Z เพชรมีโทนสีน้ำตาลหรือเหลืองที่เห็นได้ชัดเจน แผนภูมิสีเพชรด้านล่างแสดงลักษณะของแต่ละเกรดที่อยู่ติดกัน

ภาพ จาก GIA

ในธรรมชาติ สีของเพชรมีได้หลายสี แต่เพชรสีขาวนั้นได้รับความนิยมมากที่สุดเพชรสีขาวแบ่งระดับสีได้หลายระดับไล่ตามตัวอักษรตั้งแต่ D (น้ำ 100 ขาวสุด) แล้วไล่ลงไปตามลำดับ E, F, G… ซึ่งตรงนี้เองที่หลายท่านมักจะเข้าใจผิดว่าเพชรที่ดี ต้องเป็นเพชรน้ำ 100 เท่านั้น สีของเพชรที่ขายดีสำหรับแหวนเพชรไซส์ไม่เกิน 1 กะรัต คือ D ถึง I (100-95)

ราคาของเพชรมักจะสะท้อนถึงเกรดสีเพชรด้วย บางครั้งก็มีความสำคัญ ในกรณีส่วนใหญ่ ตาเปล่าไม่สามารถบอกความแตกต่างระหว่างเพชรสองเม็ดที่มีเกรดสีที่อยู่ติดกันได้ แม้ว่าความแตกต่างของราคาอาจมีนัยสำคัญก็ตาม

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการพิจารณสีคือต้องดูความอิ่มตัวของสีด้วย ว่ามีความสม่ำเสมอหรือไม่ และต้องแน่ใจว่าเพชรนั้นปราศจากการแต่งแต้มใดๆ ที่รบกวนการสะท้อนแสงสีขาวและแสงสี

หมายเหตุ: เพชรสีบางชนิดเป็นอัญมณีที่มีมูลค่า เช่น เพชรสีชมพูหรือสีเขียวแฟนซี เกรดสีของเพชรเหล่านี้แตกต่างอย่างชัดเจนจากเพชร “สีขาว” และไม่ปรากฏในตารางสีของเพชร

ความสะอาด (Clarity) ปัจจัยที่ไม่ควรละเลย

ความสะอาดหมายถึงความบริสุทธิ์ของเพชร จะมีตั้งแต่ที่ไม่มีตำหนิเลยจนถึงมีตำหนิมาก เพชรที่ไม่มีตำหนิเลยมีอยู่น้อย การดูตำหนิของเพชรต้องดูด้วยแว่นขยายหรือกล้องจุลทรรศ์กำลังขยายถึง 10 เท่า หากเพชรนั้นสามารถมองเห็นตำหนิได้ด้วยตาเปล่าราคาจะลดลง และหากใช้กล้องจุลทรรส์ดูแล้วยังมองเห็นตำหนิได้ยากก็แสดงว่าเพชรดีเยี่ยม ราคาสูง

ความสะอาดของเพชรอาจเป็นปัจจัยที่หลายๆ คนให้ความสำคัญน้อย แต่จริงๆ แล้วเป็นปัจจัยที่ ไม่ควรละเลย เพราะความสะอาดของเพชร จะส่งผลต่อความเปล่งประกายของเพชรโดยตรง เพชรที่มีตำหนิเยอะการเดินทางของแสงจะไม่สมบูรณ์ และประกายไฟก็จะน้อยลงไปด้วย ความสะอาดที่แนะนำคือตั้งแต่ IF-VS1

โดย GIA แบ่งเกรดความสะอาดของเพชรไว้ดังแผนภูมินี้

ภาพ จาก GIA

Flawless (FL) เพชรที่ไร้ที่ติ ไม่มีตำหนิหรือมลทินใดๆ ในทั้งเนื้อเพชรและผิวของเพชร เมื่อมองภายใต้กล้องขยาย 10 เท่า
Internally Flawless (IF) เพชรที่ไม่มีตำหนิภายในเนื้อเพชรเลย เมื่อมองภายใต้กล้องขยาย 10 เท่า

Very very slightly included (VVS1, VVS2) เพชรที่มีตำหนิในเนื้อเพชรน้อยมากๆ ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า จะต้องใช้กล้องกำลังขยาย 10 เท่าส่องจึงจะเห็น จำแนกออกเป็น 2 ระดับ หากตำหนิน้อยมากจะใช้ VVS1 หากตำหนิที่สามารถเห็นได้ชัดมากขึ้นจะใช้ VVS2

Very slightly included (VS1, VS2) เพชรที่มีตำหนิในเนื้อเพชรน้อย ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า จะต้องใช้กล้องกำลังขยาย 10 เท่าส่อง จึงจะเห็น

Slightly Included (SI1, SI2) เพชรที่มีตำหนิ ที่สามารถมองเห็นได้ ภายใต้กล้องกำลังขยาย 10 เท่าและบางกรณีสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่จะมีขนาดที่เล็กซึ่งอาจจะต้องสังเกต

Included (I1, I2, I3) เพชรที่มีตำหนิ ที่สามารถเห็นด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน

เมื่อคุณดูแผนภูมิ คุณจะสังเกตเห็นว่าเพชรมีรอยตำหนิมากขึ้น แม้ว่าความไม่สมบูรณ์จะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

การดูเพชรแต่ละเม็ดจึงเป็นเรื่องสำคัญ ความสะอาดของเพชรขึ้นอยู่กับขนาด ตำแหน่ง และความมืดของตำหนิและรอยตำหนิ ความไม่สมบูรณ์เหล่านี้อาจรบกวนทางเดินของแสงเมื่อแสงส่องผ่านเพชร ทำให้ความแวววาวและความงามของเพชรจืดจางลง ดึงเอาการเจียระไนคุณภาพสูงออกไป

น้ำหนัก (Carat) ยิ่งใหญ่ ยิ่งราคาแพง

กะรัต (Carat) ไม่ใช่หน่วยวัดขนาดของเพขร แต่เป็นหน่วยวัดน้ำหนักของเพชร น้ำหนักของเพชร 1 กะรัต เท่ากับ 0.2 กรัม หรือ 200 มิลลิกรัม หากเพชรที่น้ำหนักต่ำกว่า 1 กะรัต จะใช้หน่วยเป็นสตางค์ หรือ Point และเพชรเพชร 1 กะรัต เท่ากับ 100 สตางค์ (Point) ซึ่งนิยมเรียกติดปากว่า กี่ตัง หรือ กี่สตางค์ เช่น เพชรเม็ดนี้หนัก 1.35 กะรัต คือ น้ำหนัก 1 กะรัต 35 สตางค์ หรือ เพชร 0.5 กะรัต คือเพชร 50 สตางค์

เพชรยิ่งมีขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก ยิ่งหาได้ยาก ราคาต่อกะรัตจึงสูงตามน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น

ถ้าหากคุณชอบเพชร 1 กะรัต หรือกำลังมองหาซื้อ อาจดูที่ขนาด 0.95-0.99 กะรัตด้วย เพราะมีราคาถูกกว่ากันพอสมควร เนื่องจากการคิดราคาถือว่าอยู่คนละเกรดกันแต่มีขนาดของจริงที่มองดูเผินๆ แล้วใกล้เคียงกันมาก แต่ขนาดที่ไม่แนะนำ คือเพชรตั้งแต่ขนาด 1 กะรัต ที่ลงท้ายด้วย .00 เช่น 1.00 เพราะหากเกิดรอยบิ่นแล้วต้องนำไปเจียระไนใหม่เพื่อลดรอยที่เกิดขึ้น น้ำหนักของเพชรจะหายไป ทำให้นำหนักของเพชรเม็ดนั้นตกเกรดทันที เช่น ถ้าน้ำหนักเพชร 1.00 กะรัตพอดี แล้วต้องนำไปเจียใหม่ก็จะกลายเป็นเพชร 0.99 กะรัต หรือต่ำกว่านั้น ซึ่งราคาจะเสียไปค่อนข้างเยอะ

ในขณะที่น้ำหนักกะรัตเป็นองค์ประกอบที่ต้องพิจารณาเมื่อซื้อเพชร แต่ว่ารูปลักษณ์โดยรวมและความแวววาวนั้นควรมีความสำคัญมากกว่า ตัวอย่างเช่น เพชรขนาดปานกลาง 1.5 กะรัตจะไม่เปล่งประกายหรือดึงดูดความสนใจได้มากเท่ากับเพชร 1.0 กะรัตที่สวยงาม ไม่ว่าเพชรจะมีน้ำหนักมากกว่านั้นเท่าใดก็ตาม แทนที่จะยึดติดกับตัวเลขบนตารางน้ำหนักกะรัตของเพชร ควรเลือกเพชรที่มีการเจียระไนแบบดีเยี่ยม

สรุป
4C คือ เกณฑ์พิจารณาคุณภาพของเพชร และยังเป็นปัจจัยส่งผลต่อความงามโดยรวมของเพชร ทำให้เพชรแต่ละเม็ดมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่สิ่งที่ต้องพิจารณามากที่สุดได้แก่ การเจียระไน (Cutting) เพราะส่งผลต่อความงามของเพชรได้ง่ายที่สุด คุณควรมองหาความแวววาวและการเล่นไฟในระดับสูง และเต็มใจที่จะลดค่าใช้จ่ายของคุณในด้านอื่นๆ เช่น ความสะอาด หรือสี เพื่อให้แน่ใจว่าได้การเจียระไนนั้นยอดเยี่ยม ส่วนสี (Color) เป็นประเด็นสำคัญอันดับสองที่ต้องให้ความสำคัญ เพชรควรดูขาวหรือไม่มีสีด้วยตาเปล่า และสีต้องไม่ขัดขวางการสะท้อนแสงสีขาวและแสงสี ความ สะอาด (Clarity) คุณลักษณะที่สำคัญเป็นดับสาม คุณควรเลือกเพชรที่สะอาดตา ไม่ควรมีตำหนิ และต้องไม่ขัดขวางความแวววาวหรือการเล่นไฟของเพชร กะรัต (Carat) นั้นอยู่ที่ว่าคุณต้องการได้เพชรใหญ่แค่ไหนก็เพียงเท่านั้น แต่คุณควรให้ 3C อื่นๆ มีความสมดุลกัน หากคุณจัดความสมดุลทุกอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว คุณก็สามารถได้เพชรเม็ดใหญ่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในงบประมาณของคุณซึ่งดูสวยงามมาก

อ้างอิงเนื้อหา:
https://www.diamonds.pro/education/4cs-diamonds/#How-To-Buy-An-Engagement-Ring-Using-The-4-Cs
https://4cs.gia.edu/en-us/4cs-diamond-quality/
https://www.brides.com/story/choosing-engagement-ring-four-cshttps://www.stonealgo.com/blog/gia-certificates-how-to-read-them-and-what-to-avoid/

Posted on

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเพชร (Diamond) อัญมณีประจำเดือนเมษายน

หากให้นึกถึงอัญมณีคงไม่มีใครไม่นึกถึงเพชร เพราะเวลาที่นึกถึงอัญมณีก็ต้องมีคำว่าเพชรลอยมาก่อนอยู่แล้ว
ทั้งเพชรและพลอยนั้นเป็นแร่อัญมณีด้วยกันทั้งคู่ แต่เป็นคนละชนิดกัน เพชร คือ แร่ที่มีความแข็งระดับ10 เท่านั้น ส่วนพลอยนั้นคือแร่ที่มีความแข็งระดับ 9 ลงไป แต่เอาเข้าจริงๆ ในบรรดาแร่อัญมณีชนิดต่างๆ ที่มีความแข็งระดับ 10 ก็มีเพียงเพชรเท่านั้น อัญมณีอื่นๆ นั้นเป็นพลอย ซึ่งถ้าให้แบ่งเกณฑ์ตามความแข็งนั้น จะแบ่งได้เป็นพลอยเนื้อแข็ง และพลอยเนื้ออ่อน โดยมีหลายประเภท หลายกลุ่มแร่ ยิบย่อยลงไปอีก

เพชรคืออัญมณีที่แข็งที่สุด และแพงที่สุดอันดับหนึ่งของโลก และตามที่ทุกคนเคยได้ยินว่าเพชรเป็นวัตถุที่แข็งที่สุดในโลกนั้นก็เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะหากเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเพชรก็ยังคงความแข็งเป็นที่หนึ่ง อีกทั้งยังมีค่าดัชนีหักเหและการกระจายแสงที่สูงทำให้มีประกายแวววาว ระยิบระยับ เล่นไฟได้ดีกว่าอัญมณีประเภทอื่นๆ จึงถือว่าเป็นอัญมณีที่มีความสำคัญที่สุด มีคุณค่าและราคาสูงกว่าอัญมณีชนิดอื่นๆ และได้รับความนิยมใช้ทำแหวนแต่งงานในหลายวัฒนธรรม ในสมัยก่อนนั้นเพชรเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเจ้าของ ในปัจจุบันนี้เพชรเเป็นสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่นร่วมกันและความรักนิรันดร์

เพชร ชื่อภาษาอังกฤษ Diamond ชื่อนี้มาจากคำภาษากรีกโบราณคำว่า adamas ซึ่งมีความหมายว่าไม่สามารถทำลายได้ เพชรเป็นอัญมณีที่มีชื่อเสียงด้านความแข็ง เป็นแร่ที่แข็งที่สุดตามมาตรวัดความแข็งของโมห์ส (Mohs Hardness Scale) อยู่ที่ระดับ 10 เพชรแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะแตกหรือเป็นรอย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาพ เพชรคืออัญมณีที่มีความแข็งสูงสุดในกลุ่ม

 

ภาพ เพชร เป็นอัญมณีรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นผลึกที่บริสุทธิ์ของคาร์บอน (Carbon)  โดย Björn Wylezich

ภาพ โครงสร้างของอะตอมคาร์บอนของเพชรเป็นทรงลูกบาศก์ แตกต่างกับแกรไฟต์ (ไส้ดินสอ)

เพราะว่าเพชรคือผลึกของคาร์บอน ในเชิงเคมีเพชรจึงมิได้แตกต่างจากถ่านที่เราใช้ย่างเนื้อ ไส้ดินสอที่ใช้เขียน หรือถ่านหินที่ให้ความอบอุ่นในบ้านและโรงงาน แต่สิ่งที่แตกต่างคือ คาร์บอนที่ประกอบขึ้นเป็นเพชร ได้ถูกความร้อนและแรงกดดันสูงบีบอัด จนกลายเป็นผลึกที่มีความแข็งแกร่งอย่างยิ่งยวด

เพชรเกิดการก่อตัวขึ้นเมื่อหลายร้อยปีก่อน ในเปลือกโลกชั้นใน เปลือกโลกชั้นใน จะอยู่ลึกลงไปจากเปลือกโลกชั้นนอกหลายไมล์ ในบริเวณนี้มีชั้นหินที่เคลื่อนที่ทำให้คาร์บอนมีอุณหภูมิสูงหลายร้อยองศาฟาเรนไฮต์ และแรงดันหลายล้านปอนด์ต่อตารางนิ้ว คาร์บอนที่อยู่ภายใต้แรงดันดังกล่าว ได้รับการปรับโครงสร้างใหม่ให้มีลักษณะเป็น “ก้อนผลึก” ที่แข็งแรงมาก

แต่คาร์บอนก็ไม่ได้เป็นคาร์บอนที่บริสุทธิ์เสียทีเดียว เนื่องจากมีไนโตรเจนเหลวและธาตุอื่นๆ ปะปนอยู่เล็กน้อย

การปะทุของภูเขาไฟทำให้เพชรขึ้นมาสู่พื้นผิวโลกในรูปของหินหนืดและกลายเป็นธาตุลาวาที่แข็งตัว
อีกทั้งยังทำให้เกิด “ปล่องคิมเบอร์ไลท์ (kimberlite pipe)” ตามแหล่งต่างๆ บนโลกอีกด้วย 

ปล่องคิมเบอร์ไลท์ คือ “ปล่อง” ลักษณะเป็นท่อยาว เป็นช่องทางที่ภูเขาไฟนำพาสินแร่เหลวต่างๆ ขึ้นมาใกล้ผิวโลก ซึ่งเพชรได้ปะปนอยู่ในนั้นด้วย

ต่อมาเมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา หรือเกิดการ “เคลื่อนตัว” ของเปลือกโลก และการผุกร่อนตามธรรมชาติ ทำให้ปล่องคิมเบอร์ไลท์ปรากฏขึ้น ลมและน้ำค่อยๆ กัดเซาะหินที่หลุดออก ทำให้ผลึกเพชรที่ฝังอยู่ภายในค่อยๆ หลุดออก เพชรดิบตามธรรมชาติจะถูกชะล้างให้ไหลไปตามแม่น้ำลำคลอง และมีจำนวนมากที่พัดไปไกลถึงทะเล เพชรเหล่านี้จะปะปนไปกับกรวดทรายก้นแม่น้ำและมักถูกฝังไว้ใต้พื้นทรายซึ่งน้ำหนักนับเป็นตันๆ อีกครั้ง

ในยุคแรกมีการค้นพบเพชรในก้นแม่น้ำและทะเล ซึ่งห่างไกลจากแหล่งกำเนิดเพชรในแถบภูเขาไฟ ในบางส่วนของโลก เช่น เซียร์ราลีโอ (Sierra Leone) ผู้คนจะค้นหาเพชรตามแม่น้ำที่ผลึกเพชรถูกทับถมไว้ แต่ในบางพื้นที่พวกบริษัททำเหมืองใช้เครื่องจักรช่วยในการขุดหาผลึกเพชร

แต่เนื่องจากความอยากได้อัญมณีสีขาวล้ำค่าประเภทนี้ยังคงมีอยู่และความต้องการก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มนุษย์จึงพยายามสืบหาต้นกำเนิดของเพชร และมีการขุดปล่องเพชรกันเรื่อยๆ และยังมีการขุดปล่องเพชรที่อยู่ลึกลงใต้ผิวโลกอีกด้วย ซึ่งเป็นการใช้ทุนมหาศาล
ในบางแห่งของโลก เช่น แอฟริกาและไซบีเรีย พบว่ามีเหมืองที่ขุดในปล่องภูเขาไฟเก่าแก่ที่ดับลงแล้ว เป็นการขุดบ่อให้ลึกลงไปจากชั้นหินเรียกว่า “การทำเหมืองแบบบ่อเปิด (Open Pit Mining)”
โดยเมื่อได้ขุดบ่อลึกเกินกว่าที่จะค้นหาเพชรจากด้านบนแล้วก็จะฝังปล่องลงไปให้ขนานกับสายแร่เพชรและทำอุโมงค์ลอดใต้ภูเขาให้ทะลุไปยังสายแร่นั้น ซึ่งเฉลี่ยแล้วหินผลึกเพชรประมาณ 50 ตัน เมื่อผ่านกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ของการเจียระไนแล้วจะได้เพชรแค่ 1 กะรัต เทียบอัตราส่วนได้ 1 ต่อ 250 ล้านส่วนเลยที่เดียว เห็นได้ว่ากรรมวิธีการทำเหมืองเพชรเป็นวิธีที่ต้องใช้ทุนอย่างมหาศาล

เพชรมีหลายสี โดยสีที่นิยมที่สุดคือสีขาวบริสุทธิ์ ส่วนสีที่หายากคือสีแดง ฟ้า เขียว ส้ม ชมพู เรียก “แฟนซีคัลเลอร์ไดมอนด์” ซึ่งมีราคาสูงกว่าเพชรสีขาวเสียอีก

โดยทั่วไปการเจียระไนเพชรกลม เป็น 57 เหลี่ยม (หากรวมก้นเพชรรวมเป็น 58 เหลี่ยม) หรือ ที่เรียกว่าเหลี่ยมเกสร นับว่าสวยที่สุด เพชรเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ ความแข็งแกร่ง แหล่งของเพชรมีอยู่ทั่วโลก ส่วนมากพบที่บราซิล แคนาดา รัสเซีย ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้

อ้างอิงเนื้อหา:
https://th.wikipedia.org/wiki/เพชร
https://www.git.or.th/diamond.html
Thailand Gems & Jewelry Industrial Profile_อุตสาหกรรมเจียระไนเพชร.pdf https://www.techglads.com/cse/sem1/diamond-and-graphite/ https://www.mining-technology.com/features/feature-the-worlds-top-10-biggest-diamond-mines/