Posted on

ส่องอัญมณีสำหรับเทศกาลคริสต์มาส🎄🎅

ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับเทศกาลคริสต์มาส ช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีที่คุณจะพบเจอต้นคริสต์มาสประดับประดาระยิบระยับไปทั่วเมือง และถ้าหากเป็นเรื่องของแฟชั่นและการแต่งกายให้เข้ากับเทศกาลนี้ ก็คงหนีไม่พ้น “สีเขียวและสีแดง” เปรียบเสมือนต้นฮอลลี่ที่มีใบสีเขียวชอุ่มพร้อมออกผลสีแดงสด ซึ่งคนนิยมนำก้านของมันมาประดับตกแต่งบ้านในช่วงฤดูหนาว

แต่ถ้าหากว่าคุณต้องเลือกเครื่องประดับสักชิ้นหนึ่งเพื่อเป็นของขวัญให้ใครสักคน หรือแม้แต่ตัวคุณเอง เราขอแนะนำให้คุณเลือกเครื่องประดับที่มีอัญมณีเป็นองค์ประกอบด้วย เพราะเสน่ห์ของอัญมณีจะเพิ่มสัมผัสแห่งความสง่างามและความมีเสน่ห์ที่สมบูรณ์แบบให้กับโอกาสพิเศษที่มีเพียงปีละหนึ่งครั้งเช่นนี้

มาพิจารณากันว่าอัญมณีที่เหมาะสมสุดๆ สำหรับเทศกาลคริสมาสต์นี้มีอะไรบ้าง เพื่อให้คอลเลกชั่นเครื่องประดับของคุณนั้นสวยงามเลอค่าได้อย่างลงตัวและเป็นที่น่าจดจำ!

ทับทิม (Ruby):

 

ไม่แปลกใจเลยว่าทับทิมต้องเป็นอัญมณีที่เหมาะสมสำหรับเทศกาลคริสต์มาส เพราะสีแดงเข้มของทับทิมกระตุ้นให้เกิดความอบอุ่นและความหลงใหล และสีแดงของทับทิมยังแสดงถึงสีของผลฮอลลี่ และซานตาครอสได้อีกด้วย

จี้ ต่างหู หรือแหวนที่ใช้ทับทิม เป็นของขวัญแสดงความรักและความอบอุ่นระหว่างเทศกาลช่วงฤดูหนาวนี้ได้อย่างเหมาะสม

มรกต (Emerald):

 

แน่นอนว่าสีเขียวชอุ่มของมรกตต้องเป็นสิ่งที่น่าโปรดปรานในเทศกาลคริสมาสต์ เพราะมรกตชวนให้นึกถึงพันธ์ไม้ต่างๆ ในวันคริสมาสต์และต้นมิสเซิลโท ซึ่งจะมีเสน่ห์และดึงดูดตลอดกาล ไม่ว่าคุณจะใส่เข็มกลัดสไตล์คลาสสิกหรือเป็นแหวนร่วมสมัย ถ้าหากมีมรกตด้วยสักชิ้นก็สื่อถึงแก่นแท้ของคริสต์มาสได้แล้ว

อีกทั้งมรกตยังเป็นอัญมณีที่เชื่อมโยงกับจักระหัวใจ เป็นตัวแทนของความรักและความมุ่งมั่นที่สวยงาม ทำให้เป็นของขวัญในอุดมคติสำหรับการแสดงความรักโรแมนติกในเทศกาลคริสต์มาส

เพชร (Diamond)

 

เพชรถือเป็นตัวเลือกที่ชวนให้นึกถึงประกายเย็นเฉียบของหิมะที่สดชื่น อีกทั้งความแวววาวที่ไม่มีใครเทียบได้และความสง่างามเหนือกาลเวลา ทำให้เพชรเป็นของขวัญอันล้ำค่า โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลวันหยุด

สร้อยคอเพชรหรือต่างหูเพชรเม็ดเดี่ยวๆ นั้นชวนให้คุณรู้สึกเหมือนอยู่ในดินแดนแห่งฤดูหนาวที่มีความสุขได้เช่นกัน

ไพลิน (Blue Sapphire)

 

แม้ว่าสีของไพลิน ไม่ใช่ธีมสีแดงเขียวตามประเพณีคริสต์มาส แต่เพราะสีน้ำเงินเข้มของไพลินที่ดูลึกลับนั้นชวนให้นึกถึงคืนฤดูหนาวอันยาวนาน เสน่ห์ของไพลินไม่เพียงแค่มีสีที่น่าทึ่งเท่านั้น แต่ยังมีความทนทานเป็นพิเศษ ทำให้เป็นอัญมณีที่เหมาะสำหรับการสวมใส่ในชีวิตประจำวัน

อีกทั้งไพลินยังเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์ ภูมิปัญญา และความสูงส่ง มาช้านาน ดังนั้นแล้ว หากคุณกำลังมองหาของขวัญที่มีความหมายและอยู่เหนือกาลเวลา ไพลิน หรือ แซพไฟร์สีน้ำเงินจะสื่อถึงความสง่างามและความสำคัญ

เครื่องประดับด้วยไพลินบนตัวเรือนเงินหรือทองคำขาวจะเปล่งประกายความงามอันเยือกเย็นซึ่งเหมาะสำหรับช่วงเทศกาลคริสต์มาส

โกเมน (Garnet)


โกเมนสีแดงเข้มๆ เป็นอัญมณีอีกชนิดหนึ่งที่สะท้อนสีสันของเทศกาลคริสต์มาส ด้วยสีแดงเข้มที่ลึกลับและมืดมนของโกเมนก็สามารถเพิ่มความหรูหราให้กับเครื่องประดับสำหรับคริสต์มาสได้

ไข่มุก (Pearl)

 

ไข่มุกที่มีความแวววาวอ่อนโยนเปรียบเสมือนแสงอันนุ่มนวลของแสงแฟรี่ ไม่ว่าจะเป็นไข่มุกแบบคลาสสิกหรือแบบร่วมสมัย ไข่มุกนำมาซึ่งสัมผัสแห่งความสง่างามและนุ่มนวล เป็นอีกตัวเลือกที่นำพาบรรยากาศแห่งความสุขของเทศกาลคริสต์มาสมาให้คุณ

โอปอล (Opal)


โอปอลที่มีการเล่นสีสันน่าหลงใหล เปรียบเสมือนไฟคริสต์มาสที่ติดอยู่ภายในก้อนหิน ประกายแวววาวของโอปอลสามารถสะท้อนเฉดสีมากมายของเทศกาล ทำให้เป็นอัญมณีอีกหนึ่งตัวเลือกที่จะทำให้เครื่องประดับของคุณมีเอกลักษณ์และน่าหลงใหล

คริสต์มาสเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและการให้ และสำหรับการให้เครื่องประดับ ไม่ว่าจะเป็นแหวน สร้อยคอ หรือต่างหูที่มาพร้อมกับความงามของอัญมณีเหล่านี้ ถือเป็นการแสดงความรักและความซาบซึ้งเหนือกาลเวลาได้ด้วย เพราะเสน่ห์ของอัญมณีจะทำให้การเฉลิมฉลองเทศกาลของคุณน่าจดจำได้อย่างแท้จริง 
Posted on

เรื่องราวสร้อยคอเพชรของโรสในไททานิค ภาพยนตร์สุดคลาสสิก

จากโศกนาฏกรรมเรือดำน้ำไททันที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้เกิดกระแสวิพากย์วิจารณ์ไปทั่วโลกในเรื่องความประมาทของบริษัท OceanGate ที่ได้ใช้เรือจัดพาผู้โดยสารทัวร์ชมซากเรืออาร์เอ็มเอส ไททานิค (RMS Titanic: Royal Mail Ship Titanic) ซึ่งอับปางอยู่ก้นทะเลตั้งแต่ปีคริสต์ศักราช 1912 หรือผ่านครบรอบ 111 ปีมาแล้ว

ข่าวของเรือดำน้ำไททัน (Titan submarine) ไม่ได้เป็นการย้ำเตือนถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงเมื่อ 111 ปีก่อนเท่านั้น แต่ยังทำให้ภาพยนตร์สุดคลาสสิกเรื่องไททานิคที่ฉายในปี 1997 (ภายหลังเรือล่ม 85 ปี) กลับมาให้ผู้คนได้พูดถึงอีกเช่นกัน เพราะหนังเรื่องนี้ยังตราตรึงใจคนดูอยู่เสมอ

และเพราะว่าหนังเรื่องไททานิคไม่ได้เป็นแค่หนังดีๆ เรื่องหนึ่ง แต่ยังได้สอดแทรกให้มีเรื่องราวของอัญมณีและเครื่องประดับเข้าไปด้วย ดังที่ในเรื่องมีสร้อยคอของนางเอก มีฉากตอนที่เธอสวมสร้อยคอและขอให้พระเอกวาดรูปเธอกับสร้อยคอซึ่งเป็นที่จดจำแก่คนดูอยู่มาก

ในเรื่องที่แต่งขึ้นนั้น สร้อยคอเพชร Heart of the ocean มีชื่อภาษาฝรั่งเศสว่า Le Coeur de la Mer แปลว่า หัวใจแห่งมหาสมุทร เป็นสร้อยคอเพชรสีน้ำเงินขนาด 56 กะรัต

ในเรื่องแต่งว่าสร้อยคอเส้นนี้แต่เดิมเป็นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 โดยหลังจากหมดสิ้นสมัยนั้น ในปี ค.ศ. 1793 เพชรเม็ดนี้ก็หายไปและได้รับการเจียระไนใหม่เป็นรูปหัวใจที่เรียกว่า “หัวใจแห่งมหาสมุทร” โดย ฮ็อกลีย์ (Caledon Hockley) ซื้อสร้อยเพชรนี้ให้โรส (Rose DeWitt Bukater) คู่หมั้นของเขาและมอบให้เธอเป็นของขวัญ ต่อมาโรสได้ขอให้แจ็ค ดอว์สัน (Jack Dawson) วาดภาพเธอกับสร้อยคอเส้นนี้ เมื่อวาดเสร็จแล้วก็นำภาพวาดพร้อมกับสร้อยคอไปไว้ในตู้เซฟของฮ็อกลีย์ และระหว่างที่มีการอพยพออกจากเรือไททานิคฮอกลีย์เปิดตู้เซฟของเขาเก็บรวบรวมเอาของมีค่าซึ่งรวมถึงสร้อยคอ Heart of the ocean ออกไปด้วย เขาใส่มันไว้ในกระเป๋าเสื้อคลุม แต่ในภายหลังตอนที่ส่งตัวโรสขึ้นเรืออพยพ เขาได้สวมเสื้อคลุมตัวนั้นให้กับโรสโดยลืมไปว่าสร้อยคออยู่ในกระเป๋า

เมื่อโรสได้เดินทางมาถึงนครนิวยอร์กก็พบว่าสร้อยคออยู่ในเสื้อคลุมนั้นและเธอได้เก็บรักษามันไว้ตลอดชีวิต จนกระทั่ง 85 ปีผ่านไป บร็อค เลิฟเว็ตต์ (Brock Lovett) นักล่าสมบัติได้พยายามค้นหาสร้อยคอในซากเรือไททานิค เขาพบภาพวาดของโรสในตู้เซฟของฮอกลีย์และเชื่อว่ามันมีมูลค่ามากกว่า Hope Diamond เสียอีก โรสได้เห็นความพยายามของเขาจึงติดต่อเขาและเล่าเรื่องราวการเดินทางที่ผ่านมาของเธอ และสุดท้ายแล้วเธอได้ปล่อยสร้อยคอ Heart of the ocean ทิ้งลงไปในท้องทะเลเหนือซากเรือไททานิคเพื่อให้มันหายไปกับความทรงจำ

ภาพ โรสในวัยชราที่กำลังทิ้งสร้อยคอหัวใจแห่งมหาสมุทร

Heart of the ocean ของผู้แต่งนั้นต้องเป็นเพชรแท้สีน้ำเงินรูปหัวใจ ขนาด 56 กะรัต ตัวเรือนทองขาวและกรอบเพชรไร้สี หากมีอยู่จริงคาดว่ามีมูลค่ามากกว่า 350 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ

Heart of the ocean ในนิยายได้รับแรงบันดาลใจจากอัญมณีในประวัติศาสตร์ที่มีอยู่จริงชื่อว่า Hope Diamond เป็นเพชรแท้ที่สวมใส่โดยราชวงศ์และสังคมผู้มั่งคั่งในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และเคยเป็นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เป็นเพชรสีน้ำเงินที่สวยงามมีน้ำหนักประมาณ 45.52 กะรัตและได้รับเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

ภาพ Hope Diamond ของจริง ที่ได้รับการเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ จาก telegraph

Hope Diamond เป็นเพชรสีน้ำเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีเรื่องราวเบื้องหลังที่น่าสนใจ ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1668 ในอินเดียและถูกขโมยและหายไป ต่อมาถูกพบในอังกฤษ อย่างไรก็ตามแล้วเครื่องประดับที่ไม่ธรรมดามักจะมาพร้อมกับเรื่องราวในตำนานว่าสิ่งของมีค่าที่ต้องคำสาป โดยถ้าใครได้ครอบครองหรือสวมใส่แล้วจะนำความโชคร้ายและโศกนาฏกรรมมาให้ ซึ่งมันอาจจะเป็นเรื่องราวที่ถูกแต่งขึ้นเพื่อเพิ่มเสน่ห์และความลึกลับของอัญมณี และ Hope Diamond นั้นก็มีเรื่องราวอยู่มากมายด้วยเช่นกัน

ในภาพยนตร์ที่เราเห็นสร้อยเพชรในหนังไม่ใช่เพชรแท้ แต่เป็นคิวบิกเซอร์โคเนีย หรือ CZ ฝังกับตัวเรือนทองขาว (White gold) ปัจจุบันบริษัท Twentieth Century Fox เก็บต้นฉบับสร้อยคอที่ใช้ในภาพยนตร์นี้ไว้ซึ่งแม้ว่ามันไม่ใช่เพชรแท้แต่ก็มีคุณค่าทางจิตใจ ภาพ จาก dlmag

แต่ทั้งนี้ ยังมีเรื่องเล่าซึ่งเป็นเรื่องจริงเกี่ยวกับสร้อยคอของผู้โดยสารเรือไททานิคอยู่ด้วยเช่นกัน

มีสร้อยคอเส้นหนึ่งเป็นสร้อยคอที่เฮนรี่ (Henry Samuel Morley) นักธุรกิจชาวอังกฤษได้มอบให้แก่คนรักของเขาคือเคท (Kate Florence Phillips) โดยทั้งสองได้ขึ้นเรือไททานิคด้วยความตั้งใจจะไปแต่งงานและเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา แม้ว่าเดิมเฮนรี่นั้นได้มีภรรยาและลูกๆ ที่อังกฤษอยู่แล้วก็ตาม เคทสวมสร้อยคอล้ำค่าของเธอตอนที่เรือไททานิคกำลังจมลงแต่เธอก็รอดชีวิตมาได้ ขณะที่เฮนรี่เสียชีวิตในโศกนาฏกรรม และไม่กี่เดือนต่อมา เธอได้ให้กำเนิดลูกสาวคนหนึ่ง ซึ่งมีการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอในภายหลังได้ว่าเป็นลูกของเฮนรี่

สร้อยคอของเธอจึงเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจให้เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ ได้นำไปเขียนเป็นเรื่องราวความรักในภาพยนตร์

ภาพ จี้ของสร้อยคอเส้นนั้นมีลักษณะค่อนข้างเล็ก ยาวเพียงหนึ่งนิ้ว เป็นพลอยแซปไฟร์รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบด้วยเพชร ติดกับสายโซ่เส้นเล็กๆ ดูเรียบง่าย จาก t2conline

อย่างไรก็ตามแล้วสร้อยคอ Heart of the ocean ได้มีการสร้างขึ้นมาใหม่อยู่หลายครั้ง โดยครั้งแรกนั้นได้ผลิตออกมาแล้วเปิดประมูลขายเพื่อการกุศลโดย Sotheby แต่จี้เป็นพลอยแซปไฟร์ 171 กะรัต เจียระไนรูปทรงคล้ายหัวใจล้อมรอบด้วยเพชร 103 เม็ด ตัวเรือนเป็นทองคำขาว (Platinum ซึ่งไม่ใช่ White gold) มีนักสะสมซื้อไปในราคา 2.2 ล้านเหรียญ

Celine Dion นักร้องสาวที่ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับเกียรติให้สวมใส่สร้อยคอเส้นนี้ในพิธีมอบรางวัล Academy Awards (Oscars) ปี 1998

ในครั้งที่สอง Harry Winston แบรนด์อัญมณีและเครื่องประดับชื่อดังที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องประดับมากว่า 8 ทศวรรษ ในสมัยนั้น Harry Winston ยังเป็นเจ้าของอัญมณีที่มีชื่อเสียงอย่าง Hope Diamond และ Briolette of India อีกด้วย จึงไม่เป็นเรื่องไม่น่าแปลกอะไรที่จะทำ Heart of the Ocean ขึ้นมาด้วยตัวเอง ซึ่งได้ใช้เพชรแท้สีน้ำเงินขนาด15 กะรัต ซึ่งเป็นผลงานที่มีมูลค่ามากกว่า Heart of the ocean เวอร์ชั่นที่ Celine Dion สวมใส่เป็น 10 เท่าตัวเพราะมีมูลค่าถึง 20 ล้านเหรียญสหรัฐ

ภาพ Gloria Stuart นักแสดงในภาพยนตร์ไททานิคที่รับบทเป็นเคทตอนมีอายุนั้น ได้รับเกียรติให้สวมใส่สร้อยคอจาก Harry Winston ในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ปี 1998 ด้วยเช่นเดียวกัน โดย Chris Pizzello/AP

สรุปได้ว่าสร้อยคอเพชรของโรสในหนังไททานิคที่ชื่อว่า Heart of the Ocean นั้นไม่มีอยู่จริง
แต่ได้รับแรงบันดาลใจจากอัญมณีในประวัติศาสตร์ที่ชื่อว่า Hope Diamond และสร้อยคอแซปไฟร์ของผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์เรือล่มที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งได้นำมาผสมผสานแต่งขึ้นเป็นเรื่องราวให้เราชมในหนัง และถ้าหากสร้อยเส้นนี้มีอยู่จริงๆ ก็คงมีมูลค่าเทียบเท่ากับเพชรที่แพงที่สุดในโลก เพราะในเรื่องแต่งให้เป็นเพชรที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เคยครอบครอง และมีการกล่าวว่ามันอาจมีมูลค่าสูงกว่า Hope Diamond เสียอีก

แต่ก็ไม่ใช่ว่ามูลค่าที่แพงนั้นมาจากความเป็นตำนานของอัญมณีเพียงอย่างเดียว แต่เพราะความเป็นเพชรแท้ๆ ที่มีสีน้ำเงินด้วยนั้นก็หามาไม่ได้ง่ายๆ ด้วยเช่นกัน ดังนั้นแล้วถ้าหากคุณต้องการจะครอบครองสร้อยคอ Heart of the ocean หรืออยากจะลองเป็นนางเอกไททานิคเข้าสักวัน พลอยธรรมชาติแท้ๆ อย่างแซปไฟร์ก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด เพราะเป็นพลอยที่ดูลึกลับและมีเสน่ห์อีกด้วย

อ้างอิงเนื้อหา:

https://www.royalcoster.com/blogs/diamonds/heart-of-the-ocean-the-famous-diamond-necklace-of-the-titanichttps://titanic.fandom.com/wiki/Heart_of_the_Ocean
https://www.cosmopolitan.com/entertainment/movies/a13118505/titanic-rose-throws-necklace-in-ocea
https://en.israelidiamond.co.il/diamond-articles/gems-and-jewelry/movies-expensive-jewels/
https://dlmag.com/story-of-titanics-iconic-heart-of-the-ocean-diamond-necklace/

Posted on

สปิเนล (Spinel)

ภาพ สปิเนล จาก gemstones.com

หากคุณกำลังมองหาพลอยแท้ธรรมชาติที่มีลักษณะคล้ายทับทิมแต่ราคาย่อมเยา ลองพิจารณาหาสปิเนล ที่ทั้งยังให้ความทนทาน ค่อนข้างแข็ง และมักมีความใสและแวววาวดีกว่าทับทิมอีกด้วย

สปิเนลเป็นแร่อัญมณีที่ดึงดูดใจและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นแร่ที่มีความแข็งมาก สปิเนลได้รับความนิยมในหมู่นักสะสมและพ่อค้าเพชรพลอยทั่วโลกเพราะประกายงดงาม เป็นพลอยเนื้ออ่อนที่มีความแข็ง และมีสีสันหลากหลาย คำว่าสปิเนล มาจากภาษากรีกที่แปลว่า ประกาย เพราะสีแดงเพลิงของสปิเนลนั้นเอง

เพราะความที่สปิเนลเป็นอัญมณีที่แข็งแกร่งจึงเหมาะต่อการนำไปทำเครื่องประดับได้ทุกประเภท มีความแข็งระดับ 8 ซึ่งยังแข็งกว่าโกเมนหรือทัวร์มาลีน ทำให้สปิเนลเป็นอัญมณีอีกตัวเลือกที่เหมาะนำไปทำแหวนหมั้น เพราะไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการดูแลหรือต้องแต่งพลอยเหมือนอย่างทับทิมและแซปไฟร์ เนื่องจากสปิเนลเป็นพลอยที่ไม่ต้องผ่านการปรับปรุงคุณภาพพลอย

สปิเนลมักก่อตัวเป็นโครงสร้างสามเหลี่ยมที่ไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นมาได้ สปิเนลจึงเป็นอัญมณีแท้ที่พบได้ตามธรรมชาติเท่านั้นและหาได้ยาก

การใช้นำสปิเนลมาใช้แทนทับทิมนั้นได้รับความนิยม อีกทั้งยังพบว่ามงกุฎที่มีชื่อเสียงระดับโลกที่เคยมีการระบุว่าใช้ทับทิมนั้น จริงๆ แล้วมีการค้นพบภายหลังว่าทับทิมเหล่านั้นเป็นสปิเนล ไม่ใช่ทับทิม
เช่น ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 มี “มงกุฎอิมพีเรียลสเตต” ของราชวงศ์อังกฤษ ได้ใช้ทับทิมเจ้าชายดำ (Black Prince’s Ruby) ขนาด 170 กะรัต ขนาดประมาณไข่ไก่ เป็นส่วนประกอบสำคัญด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วคือสปิเนล

เมื่อปี 2016 ควีนอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร สวมมงกุฏอิมพีเรียลสเตตที่มีสปิเนลสีแดงเจียระไนขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Black Prince’s Ruby ภาพ โดย Alastair Grant อ้างอิงจาก nytimes.com
ภาพ มงกุฏอิมพีเรียลที่มีสปิเนลขนาดใหญ่ จาก vulcans-forge

และทับทิมติเมอร์ (Timur Ruby) ในสร้อยคอของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียก็ไม่ใช้ทับทิมตามชื่อเรียกอีกด้วยเช่นกัน แต่เป็นสปิเนลสีแดงขัดมัน 352.54 กะรัต แบบไม่มีเหลี่ยมเพชร

ภาพ Timur Ruby จาก thecourtjeweller.com

สปิเนลสีแดงมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นทับทิมเนื่องจากความงามและรูปลักษณ์ที่คล้ายคลึงกันอย่างน่าทึ่ง

สปิเนลธรรมชาติแท้ๆ มักไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร เพราะว่าคนมักสับสนกับสปิเนลสังเคราะห์ที่ใช้ทำแหวนหรือเครื่องประดับพลอยที่ราคาไม่แพง และสปิเนลธรรมชาติก็ยังไม่มีออกจำหน่ายในปริมาณมาก จึงไม่เป็นที่รู้จักและก็ไม่ได้รับการโฆษณาอย่างแพร่หลายเหมือนอัญมณีชนิดอื่นๆ แต่อย่างไรแล้วผู้ค้าอัญมณีและนักสะสมอัญมณีก็มักชื่นชอบสปิเนลกันอยู่แล้ว

ในศตวรรษที่ 20 สปิเนลเป็นอัญมณีที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมเพราะไม่ค่อยมีใครรู้จัก จนกระทั่งปี 1783 เมื่อนักแร่วิทยาชาวฝรั่งเศสชื่อ Jean Baptiste Louis Rome de Lisle ได้แยก Spinel ออกจากพลอยตระกูลคอรันดัม (Ruby) ทำให้สปิเนลกลับมามีความนิยมขึ้นมาบ้าง และมีความต้องการมากขึ้น แต่คนก็ยังมีความรู้เกี่ยวกับสปิเนลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ความเชื่อเกี่ยวกับสปิเนล
สปิเนล ช่วยลดความถือตนและทำให้ผู้สวมใส่เอาใจใส่ผู้อื่นมากขึ้น กระตุ้นให้เกิดความรักจับใจเหมือนหินสีแดงเพลิง และมักใช้เพื่อให้ความรักยั่งยืน เพิ่มความมีชีวิตชีวา เติมพลังงานที่ใช้ไป และบรรเทาอาการอ่อนแรง

แหล่งที่มาหลักของสปิเนลคือพม่าและศรีลังกา ส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ได้แก่ ไทย กัมพูชา แทนซาเนีย รัสเซีย ทาจิกิสถาน และเวียดนาม การค้นพบสปิเนลมักเป็นผลพลอยได้จากการค้นหาทับทิมและไพลิน

ราศีประจำสปิเนล ได้แ่ก่ ราศีมังกร หรือเป็นอัญมณีประจำเดือนสิงหาคม

สปิเนลมีสีต่างๆ เช่น น้ำเงิน ชมพู ลาเวนเดอร์ ส้ม และดำ แต่สปิเนลสีแดงเป็นสีที่มีมูลค่ามากที่สุด

หรือกล่าวได้ว่าสปิเนลมีทุกเฉดสี ยกเว้นสีเขียวและสีเหลืองบริสุทธิ์ สีที่สำคัญคือสีแดงสดแบบทับทิมพม่า ซึ่งคล้ายกับสีแดงเลือดนกทับทิมพม่า และสีน้ำเงินแบบดอกคอร์นฟลาวเวอร์ก็ได้รับความนิยมตามมาอย่างเท่าเทียมกัน ตามด้วยสีชมพูสดใส (Jedi Hot pink) สีม่วง (Lavender, Lilac) สีส้ม และสีเทา

สปิเนลสีแดง: สปิเนลสีแดงเป็นสปิเนลที่มีค่ามากสุด มีลักษณะคล้ายทับทิมคุณภาพสูง สปิเนลสีแดง มักทำการค้นหาที่พม่า เป็นแหล่งค้นหาหลัก

ในเดือนกันยายน 2015 เข็มกลัดหรือจี้สปิเนลสีแดงถูกขายในราคา 1,362,702 เหรียญสหรัฐ ณ การประมูลแห่งหนึ่งในลอนดอนที่ชื่อว่า Bonhamds โดยได้รับการตั้งชื่อว่า “Hope Spinel” ซึ่งมาจากทาจิกิสถานและได้มีการตั้งราคาประมูลต่อกะรัตที่สูงที่สุด

สปิเนลสีชมพู: มีลักษณะคล้ายแซปไฟร์สีชมพูแต่มีราคาน้อยกว่าประมาณ 20-30%

สปิเนลสีส้ม: มีช่วงสีตั้งแต่สีส้มเหลืองไปจนถึงส้มแดง

สปิเนลสีน้ำเงิน: หากเป็นสปิเนลสีน้ำเงินอ่อนนั้นหายาก สปิเนลสีนี้มักจะออกสีเทาหรือมืดมาก ยิ่งถ้าหากเป็นสีน้ำเงินเข้มธรรมชาติที่แต่งด้วยโคบอลต์นั้นหายากเป็นพิเศษและเป็นที่ต้องการของนักสะสม โดยทั่วไปพลอยเหล่านี้มักมาจากศรีลังกาหรือเวียดนาม

สปิเนลสีม่วงลาเวนเดอร์และไวโอเล็ต: มักจะพบเป็นโทนสีอ่อน แต่ก็ยังเป็นสีม่วง

สปิเนลสีดำ: สปิเนลสีดำนี้เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการใช้พลอยสีดำที่เป็นสีธรรมชาติ มักพบในประเทศไทยและเป็นสปิเนลที่มีราคาต่ำที่สุด เนื่องจากมีธาตุเหล็กสูงจึงเป็นพลอยที่ดึงดูดแม่เหล็กได้ด้วย

สปิเนลสตาร์: เป็นพลอยหายาก อาจพบเป็นสีแดง ม่วง น้ำเงิน เทา หรือดำ มีแฉก 4 แฉก หรือ 6 แฉก

อ้างอิงเนื้อหา
https://th.wikipedia.org/wiki/ทับทิมเจ้าชายดำ
https://en.wikipedia.org/wiki/Timur_ruby
https://stri.cmu.ac.th/article_detail.php?id=67
https://www.forbes.com/sites/anthonydemarco/2015/09/05/rare-50-carat-hope-spinel-up-for-auction-with-310000-estimate/?sh=272cc53c6795https://www.mays.com.au/pages/spinel-natural-gemstone-jewellery

Posted on

อะความารีน (Aquamarine) อัญมณีประจำเดือนมีนาคม

ภาพ อะความารีน จาก Jewellermagazine

อะความารีนเป็นอัญมณีประจำเดือนมีนาคม และยังเป็นอัญมณีสำหรับวันครบรอบปีที่ 16 และ 19 และเป็นพลอยเนื้ออ่อน (Semi-precious Stones) ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอีกชนิดหนึ่ง และมีราคาย่อมเยา

อะความารีนเป็นตัวเลือกที่นักออกแบบอัญมณีสมัยใหม่ชื่นชอบ เพราะขุดพบค่อนข้างง่าย ทำให้มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย เป็นของตระกูลเบริล อะความารีนมีสีฟ้าจากการเจือสีธาตุเหล็กในองค์ประกอบทางเคมี มีระดับความแข็งที่ดีซึ่งช่วยป้องกันรอยขีดข่วน ค่าความแข็งของอะความารีนอยู่ที่ประมาณ 7.5 – 8 มีค่าความถ่วงจำเพาะ ประมาณ 2.72 มีสีฟ้าอมเขียวไปจนถึงสีน้ำเงิน-เขียว มีสูตรเคมีคือ Be3Al2Si6O18 ธาตุที่ให้สีคือ ธาตุเหล็ก (Fe)

อะความารีนอยู่ในตระกูลเบริล เป็นแร่เบริลเลียมอะลูมิเนียมซิลิเกต ซึ่งพลอยอื่นๆ ที่อยู่ในตระกูลเดียวกันก็มีมรกต (emerald) เป็นเบริลสีเขียว มอร์กาไนต์ (morganite) เป็นเบริลสีชมพูไปจนถึงสีพีช เฮลิโอดอร์ (heliodore) เป็นเบริลสีเหลืองถึงสีเหลืองทอง บิกซ์ไบท์ (bixbite) เบริสีสีชมพูไปจนถึงสีแดง โกเชไนต์ (goshenite) เป็นเบริลสีใสหรือไม่มีสี ดังนั้นแล้วหากอัญมณีเบริลใดๆ ที่ไม่ใช่สีฟ้าก็จะไม่ใช่อะความารีน

คำว่าอะความารีนมาจากภาษาละติน “Aqua” แปลว่า น้ำ “Mare” แปลว่า ทะเล ชื่อเรียกอะความารีนจึงบ่งชี้ถึงสีที่คล้ายกับน้ำทะเลนั่นเอง

อะความารีนเป็นตัวแทนของน้ำทะเล ชื่อมีความหมายว่า “น้ำทะเล” เป็นที่รู้จักในฐานะอัญมณีของกะลาสีเรือเพื่อให้เดินทางข้ามทะเลที่มีพายุได้อย่างปลอดภัย อะความารีนยังหมายถึงความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญ และมิตรภาพ อะความารีนเป็นอัญมณียอดนิยมที่คนนำไปทำเป็นเครื่องประดับมาหลายพันปี

ตามความเชื่อที่ผ่านมาหลายศตวรรษ มีการนำอะความารีนมาใช้เป็นเครื่องรางของขลังในการป้องกันอุบัติเหตุและอันตรายต่างๆ และอะความารีนยังช่วยนำพาความสงบ แก้ไขความฟุ้งซ่าน ทำให้มีแต่ความสุขกายสบายใจ ช่วยให้มีความอดทนสูง ก่อให้เกิดความกล้าหาญ และขจัดความเกียจคร้านทั้งปวง

สีของอะความารีน

สีของอะความารีนมีตั้งแต่สีฟ้าอ่อน สีฟ้าน้ำทะเล ไปจนถึงสีน้ำเงินเข้ม สีเข้มมีราคามากที่สุด ยิ่งเป็นสีน้ำเงินที่อิ่มตัวลึกยิ่งเป็นที่ต้องการมากและมีค่ามากที่สุด เกณฑ์ที่สำคัญที่สุดในการประเมินราคาอะความารีนคือความเข้มของสี แม้ว่าผู้ซื้อบางรายอาจชอบพลอยอะความารีนที่มีสีเขียวอ่อนระยิบระยับ แต่พลอยที่มีค่าที่สุดคือพลอยสีน้ำเงินที่สะอาด มีความใสบริสุทธิ์

ภาพ อะความารีนสีฟ้าเข้ม จาก Mineralminers

คุณภาพของสีมีผลต่อราคาอะความารีนอย่างมากที่สุด มีอะความารีนบางสีเป็นสีฟ้าที่มีโทนสีเทาแกมมาซึ่งพบได้ในอะความารีนจากโมซัมบิก หรืออะความารีนที่มีสีเขียวแกมแบบ Seaform อาจเป็นที่ต้องการอย่างมาก ในขณะที่อะความารีนแกมสีเขียวบางชนิดอาจมีมูลค่าน้อย

ภาพ อะความารีนที่มีสีเขียวแบบ Seaform จาก Jewellermagazine

อย่างไรก็ตาม อะความารีนมีสีน้ำเงินอมเขียวไปจนถึงสีฟ้าอมเขียวนั้น หากเมื่อได้รับความร้อนขจัดสีเหลืองออกไปแล้วมักจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน

แหล่งที่พบอะความารีน
หากเป็นช่วง 100 ปีที่ผ่านมา แหล่งผลิตอะความารีนคุณภาพดียอดนิยมนั้นอยู่ที่ซานตามาเรีย (Santa Maria) ตอนกลางของรัฐฮิวกรังจีดูซูว รัฐทางใต้สุดของประเทศบราซิล หรือ ประเทศมาดากัสการ์ แหล่งที่ดีอื่นๆ ได้แก่ ไนจีเรีย โมซัมบิก แซมเบีย ปากีสถาน แทนซาเนีย แถบเทือกเขาอูราลในประเทศรัสเซีย เวียดนาม ยังมีประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศที่พบและผลิตอะความารีน เช่นในที่อเมริกา ซึ่งส่วนใหญ่มาจากโคโลราโดและแคลิฟอร์เนีย แต่อาจไม่ได้พบมากเท่าบราซิลหรือมาดากัสการ์ โดยอะความารีนจะพบในหินเพกมาไทต์ (Pegmatite) และในหินแกรนิต (Granite)

ราคาของอะความารีน

โดยทั่วไปอะความารีนมีราคาตั้งแต่ 20-600 ดอลลาร์ต่อกะรัต ตามคุณลักษณะของสีและความลึกของพลอย สีฟ้าแกมเขียวเป็นที่ต้องการอย่างมาก ในขณะที่สีอื่นๆ ที่มีสีเขียวมักจะทำให้ราคาน้อยกว่า และมักจะได้รับความร้อนเพื่อขจัดส่วนประกอบสีเหลืองที่เป็นสาเหตุทำให้มีสีเขียวออก

ความสะอาดก็ยังมีผลต่อราคาของอะความารีนอย่างมากด้วยเช่นกัน
พลอยอะความารีนมักพบขนาดค่อนข้างใหญ่ ดังนั้นขนาดจึงไม่มีผลต่อราคามากอย่างพลอยชนิดอื่นๆ และเนื่องจากการที่อะความารีนมีสีอ่อนกว่าพลอยชนิดอื่นๆ จึงทำให้มองเห็นตำหนิต่างๆ ได้ง่ายในเนื้อพลอย ดังนั้นแล้วความใสของพลอยกลับมีผลต่อราคาอย่างมาก

แต่ในวงการอัญมณีได้จัดให้อะความารีนเป็นอัญมณีไทป์วัน (Type 1) ซึ่งเป็นการจัดประเภทคุณภาพของอัญมณีว่ามีความ “สะอาดตา” เพราะพลอยอะความารีนส่วนใหญ่นั้น “สะอาดตา” กล่าวคือ ไม่มีสิ่งเจือปนที่มองเห็นได้ อะความารีนที่มีคุณภาพดีที่สุดคือเม็ดที่สะอาด และปราศจากการเจือปนที่มองเห็นได้ ซึ่งแตกต่างจากอัญมณีชนิดอื่นๆ ซึ่งเป็นตระกูลเบริลเช่นเดียวกันอย่างมรกต พลอยอะความารีนมีความใสและใสเป็นเลิศ ส่องประกายแวววาว ผู้ซื้อส่วนใหญ่มักจะเลือกซื้ออะความารีนเพราะคุณสมบัติดังกล่าว แต่ก็พบว่ายังมีเหตุผลอยู่บางประการที่คนเลือกซื้ออะความารีนที่มีตำหนิ

อะความารีนขนาดเล็กกว่า (น้อยกว่า 5 มม.) มักจะมีสีอ่อนกว่าขนาดที่ใหญ่กว่า เนื่องจากขนาดเล็ก จะจำกัดความสามารถในการแสดงสีฟ้าที่เข้มขึ้น เหมาะกับการนำไปใช้เป็นพลอยข้างเสริมพลอยเม็ดที่ใหญ่กว่า

ภาพ แหวนอะความารีน จาก Mygemologist

ยังพบว่าพลอยสีฟ้าที่เป็นที่นิยมเช่นเดียวกัน คือ โทแพซสีฟ้าหรือสีน้ำเงิน ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับอะความารีน
แต่มีข้อแตกต่างกันคือความหนาแน่น ซึ่งสามารถทดสอบโดยการยกพลอยดูได้ หากเป็นโทแพซจะหนักกว่า และโทแพซส่วนใหญ่มักจะมีสีเข้มเกินไปที่จะเป็นอะความารีน

การที่จะระบุว่าพลอยอะความารีนเป็นอะความารีนแท้หรือทำเลียนแบบนั้นยาก หากไม่ใช่อุปกรณ์ตรวจสอบ มีสปิเนลสังเคราะห์ที่ใช้ทำเลียนแบบอะความารีน การแยกสารสามารถทำได้ด้วยเครื่องวัดการหักเหของแสงไดโครสโคป (dicroscope) หรือตัวกรอง Hanneman aqua

การใช้น้ำอุ่นและสบู่ทำความสะอาดอะความารีนจะเป็นสิ่งที่ปลอดภัยเสมอ หากคุณวางแผนที่จะใช้เครื่องทำความสะอาดอัลตราโซนิก (ultrasonic) หรือระบบไอน้ำ (steam cleaner) ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าพลอยไม่มีของเหลวเจือปนหรือแตกหักด้วย เพราะการทำความสะอาดด้วยวิธีนี้อาจทำให้เกิดการแตกหักได้ โดยทั่วไปแล้ว อะความารีนไม่ควรสัมผัสความร้อน แต่ถ้าหากต้องสัมผัสกับแสงสีก็จะยังคงตัวอยู่

การเจียระไนก็มีความสำคัญเนื่องจากพลอยตระกูลเบริลมีมีดัชนีการหักเหของแสงต่ำ ทำให้ต้องเน้นคุณภาพการเจียระไนยิ่งขึ้น อะความารีนจำนวนมากถูกเจียระไนให้ตื้นเกินไปจนเปิดช่องหน้าต่างออกไปทางพาวิลเลียนของอัญมณีอะความารีนที่ได้รับการตัดหรือเจียระไนได้อย่างถูกต้องจะสามารถมีความแวววาวที่โดดเด่นได้

อ้างอิงเนื้อหา:
https://th.wikipedia.org/wiki/อะความารีน_(สี)https://en.wikipedia.org/wiki/Aquamarine_(gem)http://chan.nfe.go.th/jew/003Month.htmlhttps://www.moregems.com/pages/aquamarine-guidehttps://www.diamondere.com/blog/a-buyers-guide-to-aquamarine-rings-natural-aaaa-vs-aaa-vs-aa/