พลอยนั้นมีมากมายหลายชนิดและมีราคาแตกต่างกัน แต่สิ่งที่ทำให้พลอยมีราคาแตกต่างกันจะสูงหรือต่ำนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับชนิดของพลอย สีของพลอย หรือ ขนาดของพลอยเพียงเท่านั้น ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อีก
ปัจจัยที่มีผลต่อราคาของพลอย ได้แก่ สี (Color) ความสะอาด (Clarity) ความโปร่งแสง (Transparency) รูปร่าง (Shape) รูปแบบการเจียระไน (Cutting Style) คุณภาพการเจียระไน (Cut Quality) น้ำหนักหรือขนาดของพลอย (Carat weight) ความสว่าง (Brillance หรือ Brightness) การปรับปรุงคุณภาพพลอย (Treatment Status) แหล่งที่มาของพลอย (Place of Origin) ปริมาณสิ่งเจือปน (ได้แก่แร่ทองแดง โครเมียม และวานาเดียม) และลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ (Distinctness of Phenomena)
สี (Color) อันที่จริงแล้ว “สี” คือปัจจัยหลัก ในการกำหนดราคาพลอย แต่ก็ใช่ว่าพลอยเม็ดนั้นมีคุณภาพสีดีแล้วราคาต้องสูงเสมอไป เพราะราคาของพลอยยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ เช่น เนื้อพลอย ขนาด หรือชนิดของพลอยอีกด้วย โดยทั่วไป ถ้าคุณภาพของสีนั้นยิ่งเข้ม ราคาของพลอยก็จะยิ่งสูงขึ้น เช่น มรกตสีเขียวเข้มมีราคาสูงกว่ามรกตสีเขียวอ่อนกว่าเป็นหลายเท่าตัว แม้ว่าทั้งพลอยทั้งสองชิ้นมีคุณลักษณะอื่นๆ เทียบเท่ากัน แต่ถ้าหากเป็นพลอยที่เจียระไนแล้วสีจะต้องมีความเข้มสม่ำเสมอกันทั่วทั้งตัวพลอย
แต่ในบางกรณีนั้นขึ้นอยู่กับผู้ซื้อหรือผู้ขายเอง การกำหนดราคาก็อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพพลอย หรือ ลักษณะของสีพลอยเลยก็มี เช่น แซปไฟร์สีน้ำเงินเข้มจากพม่ากลับมีราคาถูกกว่าแซปไฟร์สีน้ำเงินอ่อนจากศรีลังกา แม้ว่าพลอยทั้งสองชิ้นมีคุณสมบัติด้านอื่นพอๆ กัน
โดยทั่วไปแล้วหากพลอยมีสีด่างออกไปทางเทา น้ำตาล หรือดำ จะทำให้ราคาพลอยมีราคาต่ำลง เพราะสีเหล่านี้ไม่เป็นที่โปรดปรานแก่ลูกค้าส่วนใหญ่ แต่แม้กระนั้นแล้วก็ยังมีพลอยสีน้ำตาลหรือสีเทาบางชิ้นกลับมีราคาสูงลิ่วได้ด้วยเช่นกัน หากได้รับการเจียระไนอย่างน่าทึ่ง และถ้ายิ่งเป็นสีที่หายาก ยิ่งทำให้พลอยมีราคาสูงขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในโอปอล (Opal) สีแดงเป็นสีที่หายากที่สุด และมีราคาสูงที่สุด ในแอมมอโลต์ (Ammolite) สีน้ำเงินเป็นสีที่หายากที่สุด จึงมีราคาแพงที่สุด
แต่ส่วนใหญ่แล้ว ถ้าคุณภาพของพลอยค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว ปัจจัยเรื่องสีพลอยจะไม่ได้มีผลกระทบอะไรต่อการกำหนดราคานัก ยกตัวอย่างเช่น พลอยมรกต สีอาจจะไม่ได้มีผลต่อราคานักหากพลอยมีคุณภาพต่ำ แต่ถ้าเป็นมรกตเกรดดี และถ้าเปรียบเทียบในหมู่มรกตเกรดดีด้วยกัน สีจะมีผลต่อการกำหนดราคา หากสีอ่อน เข้ม แตกต่างกัน พลอยที่เนื้อดีและสีเข้มที่สุดก็จะมีราคาสูงกว่า ในขณะที่พลอยมรกตเกรดต่ำด้วยกัน แต่พลอยสีเข้มที่สุดกลับไม่ได้มีราคาที่สูงกว่าพลอยสีอ่อนกว่าแต่อย่างใด เพราะคุณภาพพลอยเป็นเกรดต่ำ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พลอยเกรดต่ำ หรือพลอยที่มีราคาถูกก็ไม่ได้เป็นพลอยที่ไม่น่าซื้อเสมอไป เพราะยังน่าดึงดูดได้หากได้รับการเจียระไนให้สวยงาม
ความสะอาด (Clarity) พลอยที่เกิดจากธรรมชาติย่อมมีตำหนิที่เกิดจากธรรมชาติ เช่นเดียวกับเพชร พลอยจึงได้มีการแบ่งเกรดความสะอาดของพลอยด้วย เป็นการแบ่งระดับความปราศจากสิ่งตำหนิเจือปน หรือมลทินในเนื้อพลอย โดยปกติแล้ว ตำหนิที่น้อยกว่า เล็กกว่า และสังเกตได้น้อยกว่า ราคาก็จะยิ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะในอัญมณีที่มีราคาสูง เช่น ทับทิมและมรกต
อย่างไรก็ตาม ความสะอาด หรือค่า Clarity ในพลอย มักเป็นที่ยอมรับได้มากกว่า Clarity ในเพชร และราคาของพลอยมักขึ้นอยู่กับรูปลักษณ์ของพลอยมากกว่าเกรดความใส
ความโปร่งแสง (Transparency) ความโปร่งแสง คือ ความสามารถที่แสงจะผ่านเข้าไปในตัวพลอย โดยการที่แสงจะสามารถผ่านเข้าไปที่พลอยได้ในลักษณะใดก็ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติความโปร่งแสงของพลอยเม็ดนั้นๆ เอง
ความโปร่งแสงของพลอยมีตั้งแต่ระดับที่พลอยมีความใส หรือโปร่งใส มัว โปร่งแสง กึ่งโปร่งแสง ไปจนถึงทึบแสง
พลอยที่โปร่งใส แสงจะผ่านเม็ดพลอยได้ทั้งหมด หากพลอยทึบแสง แสงจะไม่ผ่านพลอยเลย แต่ถ้าหากพลอยนั้นกึ่งโปร่งแสง แสงจะผ่านพลอยได้กึ่งนึง เปรียบเสมือนการมองเห็นในลักษณะคล้ายกระจกฝ้า โดยปกติแล้วยิ่งพลอยมีความโปร่งแสงสูงเท่าใด พลอยก็จะยิ่งมีค่ามากขึ้นเท่านั้น
แต่ก็ยังพบว่าในทับทิมและแซปไฟร์ที่เป็นพลอยทึบแสง อาจมีราคาสูงกว่าทับทิมและแซปไฟร์ที่โปร่งแสงมากกว่า หรือมีพลอยชนิดอื่นๆ เช่น โอปอลสีดำซึ่งเป็นพลอยทึบแสง มักจะมีมูลค่าสูงกว่าพลอยอื่นๆ ที่มีความโปร่งแสงสูงกว่า เป็นต้น
ความโปร่งแสงนั้นมีผลกระทบต่อมูลค่าพลอยอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน มรกต ทับทิม แซปไฟร์ โอปอล หยก พลอยสตาร์ และตาแมว ตัวอย่างเช่น แซปไฟร์ที่ทึบแสงมีราคา 1,500 บาท แต่ถ้าหากว่าแซปไฟร์ชนิดเดียวกันนี้มีคุณสมบัติโปร่งแสงมากกว่า อาจขายได้ราคาเป็นแสงเลยก็ได้ ถ้าหากเป็นพลอยที่โปร่งใส
รูปร่าง (Shape) รูปร่าง คือโครงร่างของพลอยด้านหงาย (เช่น ทรงกลม หรือ ทรงหยดน้ำ) ปกติแล้วสี (Color) ความสะอาด (Clarity) และความโปร่งแสง (Transparency) มีบทบาทในการกำหนดราคาพลอยมากกว่ารูปร่าง (Shape) ลักษณะการเจียระไน (Cutting Style) และคุณภาพการเจียระไน (Cut Quality) แต่ปัจจัยสามประการหลังนี้อาจส่งผลต่อมูลค่าของพลอยด้วยก็ได้
รูปร่างจะมีต่อราคาพลอยแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับผู้ขาย ความหลากหลายของพลอย น้ำหนักพลอย คุณภาพพลอย และความต้องการในตลาด
ทับทิมรูปทรงกลม (Round) 1 กะรัต คุณภาพสูง อาจมีราคาสูงกว่าทับทิมรูปไข่ (Oval) 10%-20% เนื่องจากทรงกลมมีความต้องการมากกว่า และเนื่องจากการเจียระไนทรงกลมนั้นพลอยต้องสูญเสียน้ำหนักมากกว่า
ในพลอยขนาดเล็กและคุณภาพต่ำรูปร่างพลอยอาจไม่มีผลกับราคา เรื่องของการกำหนดราคารูปร่างนั้นซับซ้อน แต่ถ้าหากว่าคุณต้องการประเมินราคาพลอย คุณจะต้องเปรียบเทียบพลอยที่ “รูปร่างแบบเดียวกัน” และมี “รูปแบบการเจียระไน” เป็นแบบเดียวกัน
รูปแบบการเจียระไน (Cutting Style) รูปแบบการเจียระไน เป็นรูปแบบในการเจียระไนพลอย หรือเหลี่ยมพลอย โดยทั่วไปแล้วพลอยที่ได้รับการเจียระไนแบบหลังเบี้ย (Cabochon) และลูกปัดที่ไม่มีเหลี่ยมมักจะมีราคาต่ำกว่าพลอยที่ได้เจียระไนเพราะมีค่าใช้จ่ายในการเจียระไนน้อย อีกเหตุผลหนึ่งที่มักมีราคาต่ำกว่าคือมักเป็นพลอยหรือหินที่มีคุณภาพต่ำซึ่งไม่เหมาะสำหรับการเจียระไน แต่เรายังสามารถพบเพลอยหรือหินหลังเบี้ยที่มีเกรดคุณภาพสูงในเครื่องประดับโบราณด้วย
พลอยที่ได้รับการออกแบบให้มีรูปแบบเจียระไนโดยนักออกแบบ หรือพลอยที่มีแบรนด์ของมันออกมาโดยเฉพาะ มักจะขายได้มากกว่าพลอยที่เจียระไนเป็นรูปทรงทั่วไป รูปแบบการเจียระไนพลอยถือว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาพลอยด้วยเช่นกัน เช่น อเมทิสต์และโทแพซสีฟ้า โทแพซสีฟ้าที่ได้รับการเจียระไนอย่างดีในทรงรีแบบมาตรฐาน ราคาอาจจะอยู่ที่ $20 และอาจขายได้ในราคา $100 หากมีลักษณะการเจียระไนที่ไม่เหมือนใคร หรือทำเป็นรูปแกะสลักโดยช่างเจียระไนที่มีชื่อเสียง เป็นต้น
คุณภาพการเจียระไน (Cut Quality) คุณภาพการเจียระไนพลอย หมายถึง สัดส่วนและการแต่งพลอย เป็นปัจจัยสำคัญเพราะส่งผลต่อความแวววาวและสีสันของพลอย แต่ก็ไม่ได้ส่งผลต่อราคาของพลอยเสมอไป ในเรื่องของคุณภาพการเจียระไนพลอยมีข้อพิจารณาหลักๆ อยู่ 2-3 ประการ
1. ตอนที่พลอยหงายขึ้น คุณเห็นสีพลอยทั่วทั้งเม็ดหรือไม่? พลอยที่เจียระไนอย่างดีต้องไม่มีพื้นที่สีดำขนาดใหญ่และต้องไม่มีหน้าต่างที่ชัดเจน (หน้าต่าง หมายถึง พื้นที่สีซีดจางตรงกลางพลอย ซึ่งทำให้คุณมองทะลุผ่านเม็ดพลอยได้) โดยทั่วไป ยิ่งพลอยมีหน้าต่างมาก ยิ่งมีการตัดที่แย่ และนอกจากการดูหน้าต่างพลอยแล้ว ยังมีเรื่องการกระจายของสีของเม็ดพลอยอีกด้วย พลอยที่กระจายสีได้ไปทั่วทั้งเม็ดพลอยบ่งชี้ถึงคุณภาพการเจียระไนที่ดี
2. หากจะซื้อพลอยสักเม็ด คุณต้องเสียเงินจ่ายส่วนที่เกินออกมาด้วยหรือไม่? สมมติว่าในด้านที่พลอยหงายหน้า มีพลอย 2 ก้อนที่มีขนาดเท่ากัน คิดราคาตามน้ำหนักกะรัต พลอยเม็ดหนึ่งได้รับการเจียระไนอย่างดี แต่พลอยอีกเม็ดหนึ่งมีก้นที่ลึกและอ้วนเกินไป และมีน้ำหนักมากกว่าสองเท่า ดังนั้นแล้วพลอยที่ลึกเกินไปจะมีราคาเป็น 2 เท่า แม้ว่าจะมีขนาดของพลอยด้านหงายหน้าเท่ากันก็ตาม นอกจากนี้ พลอยอาจจะวางตั้งไม่ได้ด้วยและอาจดูมืดเกินไป
คุณควรรู้ด้วยว่าพลอยที่มีประกายและสีที่ดีมักจะได้รับการเจียระไนให้ลึกกว่าเพชร และถ้าหากพลอยเจียตื้นเกินไปจะทำให้มีหน้าต่าง
น้ำหนักหรือขนาดพลอย (Carat Weight หรือ Stone Size) น้ำหนักหรือขนาดของพลอย ถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการกำหนดราคาพลอย ในกรณีส่วนใหญ่แล้วยิ่งน้ำหนักกะรัตมีค่ามากขึ้น ราคาพลอยก็สูงมากขึ้นด้วย หรืออย่างที่เรารู้กันว่า การคิดราคาพลอยนั้นมักจะคิดกันตามราคาน้ำหนักกันอยู่แล้ว โดย 1 กะรัต มีค่าเท่ากับ 1/5 กรัม หรือ 0.20 กรัม พลอยที่โปร่งแสงไปจนถึงกึ่งทึบแสงจำนวนมาก เช่น หยก มาลาไคต์ และหินคาลซิโดนี มักจะขายเป็นชิ้นหรือมีราคาตามขนาดของหิน ไม่ได้ขายตามน้ำหนักกะรัต และพลอยที่มีน้ำหนักไม่เกินครึ่งกะรัตมักจะคิดราคาตามขนาดมิลลิเมตร
ความสว่าง (Brilliance หรือ Brightness) ความสว่าง คือ ความเข้มและปริมาณของแสงที่มาจากพลอย ในพลอยต่างๆ เช่น โอปอล (Opal) แอมโมไลต์ (Ammolite) และอาเกตไฟ (Fire Agate) ถือว่าความสว่างเป็นปัจจัยที่สำคัญในการกำหนดราคาพลอย อย่างความสว่างของโอปอลจะมีเกณฑ์ความสว่างในระดับ 1-5 อีกด้วย โดย 5 เป็นระดับความสว่างที่สุด ซึ่งจะเห็นว่าพลอยก็ยังมีการแบ่งระดับเกรดความสว่างเช่นเดียวกับการแบ่งเกรดความสว่างในเพชรด้วย แม้ในพลอย ความสว่างไม่ได้เป็นส่วนที่สำคัญต่อการการเจียระไนเท่ากับเพชร แต่ก็ยังถือว่าเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญในการตีราคาพลอย
การปรับปรุงคุณภาพพลอย (Treatment Status) หากคุณต้องการซื้อพลอยสักเม็ด เรื่องการปรับปรุงคุณภาพของพลอยก็เป็นประเด็นที่ควรพิจารณา มีข้อคำนึงอยู่ 3 ประการ ดังนี้
1. พลอยผ่านการเผา หรือ ไม่เผา? พลอยได้ผ่านกระบวนการอื่นๆ นอกเหนือจากการทำความสะอาด การเจียระไน หรือการขัดเงาเพื่อให้ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้นหรือไม่ พลอยส่วนใหญ่มักได้รับการปรับปรุงคุณภาพโดยมนุษย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง พลอยที่ไม่ผ่านการเผามักจะมีมูลค่าสูงเพราะหายากและเป็นธรรมชาติ แต่โดยทั่วไปแล้วพลอยที่ไม่ผ่านการเผาจะไม่ค่อยสวยและมักจะมีมูลค่าน้อยกว่า และขายได้ยากกว่าพลอยที่เผาแล้ว เพราะพลอยที่เผาแล้วนั้นดูน่าดึงดูดและสวยงาม นี่จึงเป็นเหตุผลที่พลอยควรได้รับการเผานั้นเอง
2. พลอยผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยวิธีใดมาบ้าง? การปรับปรุงคุณภาพพลอยนั้นมีหลายวิธี และไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่เท่ากันทั้งหมด วิธีการย้อมสีและการเติมโพรงพลอยเป็นวิธีที่ส่งผลเสียต่อมูลค่าของพลอยมากกว่าวิธีอื่นๆ การเผาซึ่งให้ความร้อนนั้นเป็นวิธีที่ยอมรับกันดี ดังนั้นคุณจึงควรรู้ว่าพลอยที่จะซื้อนั้นเคยผ่านการปรับปรุงคุณภาพแบบไหนมาก่อนเพื่อประเมินมูลค่าของมัน
3. ขอบเขตของการปรับปรุงคุณภาพพลอยคืออะไร? หากพลอยผ่านการปรับปรุงคุณภาพมาก่อน คุณควรทราบข้อชัดเจนของการปรับปรุงนั้นด้วย ยกตัวอย่างในการอุดรอยร้าวของมรกต ในทางปฏิบัตินั้นพบว่ามรกตส่วนใหญ่มักมีรอยร้าวเล็กๆ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่จะต้องเติมน้ำมัน ขี้ผึ้ง หรือสารประเภทอีพ็อกซี่เพื่อปกปิดรอยร้าวเหล่านี้ และบางครั้งก็เพิ่มความทนทานให้แก่พลอยด้วย มรกตที่คุณเห็นในการซื้อขายมักได้รับการปรับปรุงเรื่องความใส ซึ่งอาจไม่ได้มีการระบุไว้
โดยธรรมชาติแล้วพลอยที่ได้รับการเติมแต่งเล็กน้อยจะมีค่ามากกว่าพลอยที่มีปริมาณของเนื้อพลอยทั่วทั้งหินอยู่แล้ว ดังนั้นห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีจึงจะระบุขอบเขตของกระบวนการเติมแต่งพลอย หรือการปรับปรุงพลอยลงไปไว้ในเอกสารด้วยว่าพลอยผ่านวิธีการต่างๆ มาในปริมาณเล็กน้อย ปานกลาง มีนัยสำคัญ หรือไม่มีเลย
แหล่งกำเนิดพลอย (Place of Origin) แหล่งกำเนิดพลอย อาจหมายถึงประเทศ พื้นที่ หรือเหมืองที่ขุดพลอย ในกรณีส่วนใหญ่แหล่งที่มาของพลอยมักไม่สำคัญต่อการกำหนดราคา แต่คุณภาพต่างหากที่สำคัญ แต่มีพลอยบางประเภท เช่น ทับทิม ไพลิน มรกต และ ทัวร์มาลีนสีน้ำเงินอมเขียว แหล่งกำเนิดอาจส่งผลต่อราคาได้หากพลอยมีคุณภาพสูงและมาพร้อมกับหนังสือรับรองจากห้องปฏิบัติการที่ได้ระบุแหล่งที่มาของพลอยด้วย ตัวอย่างเช่น แซปไฟร์คุณภาพดีจากแคชเมียร์จะขายในราคาระดับพรีเมียมเพราะความหายากและสีที่โดดเด่น
ปริมาณทองแดง โครเมียม และวานาเดียม ปริมาณทองแดง โครเมียม และวานาเดียม (Copper, chromium, and vanadium content) อาจส่งผลต่อราคาของทัวร์มาลีนสีน้ำเงินไปจนถึงสีเขียว หากรายงานจากห้องปฏิบัติการระบุว่าพลอยมีการแต่งสีด้วยทองแดงเป็นหลักก็สามารถขายได้หลายพันดอลลาร์ต่อกะรัต โดยขึ้นอยู่กับขนาดและคุณภาพ โดยทัวร์มาลีนเหล่านี้จะเรียกว่าทัวร์มาลีน Cuprian หรือทัวร์มาลีนที่มีทองแดง (copper-bearing tourmalines)
ทัวร์มาลีนที่มีสีโครเมียมหรือวานาเดียม ได้รับการตั้งชื่อว่า ทัวร์มาลีน chorme โดยสถาบันอัญมณีศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (GIA) และสมาพันธ์อัญมณีโลก (CIBJO) โดยทั่วไปจะมีราคาสูงกว่าทัวร์มาลีนสีเขียวอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด
แต่มีข้อยกเว้นประการหนึ่งคือทัวร์มาลีนสีเขียวขนาดกลางบางส่วนที่ขุดได้ในอัฟกานิสถาน ขนาดที่มากกว่า 5 กะรัต จะดูสว่างกว่าและมีความน่าดึงดูดใจมากกว่าทัวร์มาลีนแบบโครเมียม ดังนั้นในบางครั้งแล้วทัวร์มาลีนที่ไม่ใช่โครเมียมเหล่านี้อาจมีราคาที่เทียบเคียงหรือสูงกว่าได้ด้วย
ลักษณะเฉพาะ (Distinctness of Phenomena) ลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ คือ ความโดดเด่นที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ (Distinctness) ของพลอยเอง ยกตัวอย่างเช่น
ตาแมว (Chatoyancy) : มีแถบแสงสะท้อนในหลังเบี้ย เกิดขึ้นเมื่อแสงจ้าตกกระทบกับรอยแยกคล้ายเข็มหรือท่อกลวงที่ขนานกันภายในพลอยเอฟเฟกต์ตาแมวอาจพบได้ในไครโซเบอริล (chrysobery) มรกต (emerald) อะความารีน (aquamarine) อะพาไทต์ (apatite) ควอตซ์ (quartz) และทัวร์มาลีน (tourmaline)
พลอยสตาร์ (Asterism): แถบแสงสะท้อนที่ตัดกันตรงกลางเป็นรูปดาวที่มีลำแสง 4, 6 หรือ 12 ดวง
Adularscence: เอฟเฟ็กต์แสงลอยเลื่อนที่เกิดจากความไม่สม่ำเสมอของโครงสร้างในหินมูนสโตน (moon stone) ซึ่งทำให้แสงกระจายในหิน และยังพบว่ามูนสโตนที่มีทรงโดมสูงบางชิ้นจะสร้างเอฟเฟกต์ตาแมว
Aventurescens: เอฟเฟ็กต์แวววาว เกิดจากแสงที่สะท้อนจากการรวมตัวของแผ่นเปลือกโลกขนาดเล็ก ในซันสโตน (sunstone) การรวมตัวโดยทั่วไปคือเกล็ดของทองแดงหรือเฮมาไทต์ และในเวนทูรีน (venturine) ควอตซ์ (quartz) เกิดจากไมกาสีเขียวชนิดหนึ่ง
labradorescence : แสงวาบของสีในลาโบโรโดไรท์ (labradorite) หรือสเปกโทรไลต์ (spectrolite) ที่มองเห็นได้จากมุมมองที่แน่นอน เกิดจากการแทรกสอดของแสงผ่านโครงสร้างเป็นชั้นๆ ของลาบราดอไรต์
ปรากฎการณ์การเปลี่ยนสี (Color Change): บางครั้งเรียกปรากฎการณ์นี้ว่าเอฟเฟ็กอเล็กซานไดรต์ (Alexandrite) การเปลี่ยนสีที่เกิดขึ้นเมื่อแหล่งกำเนิดแสงเปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น อเล็กซานไดรต์ (alexandrite)โกเมน (garnet) หรือแซปไฟร์ (sapphire) อาจปรากฏเป็นสีม่วงภายใต้แสงจากหลอดไส้ แต่เป็นสีเขียวในเวลากลางวันหรือเมื่อได้รับแสงจากหลอดฟลูออเรสเซนต์
โดยทั่วไป หากปรากฏการณ์ยิ่งคมชัดและชัดเจนมากขึ้น หินหรือพลอยก็ยิ่งมีค่ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม อย่าคาดหวังว่ามันจะมีราคาสูงกว่าเสมอไป เพราะปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นของพลอยอาจะเป็นสิ่งที่มนุษย์ทำขึ้นมาหรือเป็นพลอยสังเคราะห์ซึ่งทำให้มีราคาต่ำกว่า ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นพลอยสตาร์ที่เห็นแฉกคมชัดกว่านั้นย่อมมีมูลค่ามากกว่า แต่ถ้าหากมันเป็นพลอยสังเคราะห์ก็จะมีมูลค่าน้อยกว่า แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วพลอยสตาร์ธรรมชาติจะไม่ได้สมบูรณ์แบบเท่ากับพลอยสตาร์ที่มนุษย์สร้างขึ้นก็ตาม