อะความารีนเป็นอัญมณีประจำเดือนมีนาคม และยังเป็นอัญมณีสำหรับวันครบรอบปีที่ 16 และ 19 และเป็นพลอยเนื้ออ่อน (Semi-precious Stones) ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอีกชนิดหนึ่ง และมีราคาย่อมเยา
อะความารีนเป็นตัวเลือกที่นักออกแบบอัญมณีสมัยใหม่ชื่นชอบ เพราะขุดพบค่อนข้างง่าย ทำให้มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย เป็นของตระกูลเบริล อะความารีนมีสีฟ้าจากการเจือสีธาตุเหล็กในองค์ประกอบทางเคมี มีระดับความแข็งที่ดีซึ่งช่วยป้องกันรอยขีดข่วน ค่าความแข็งของอะความารีนอยู่ที่ประมาณ 7.5 – 8 มีค่าความถ่วงจำเพาะ ประมาณ 2.72 มีสีฟ้าอมเขียวไปจนถึงสีน้ำเงิน-เขียว มีสูตรเคมีคือ Be3Al2Si6O18 ธาตุที่ให้สีคือ ธาตุเหล็ก (Fe)
อะความารีนอยู่ในตระกูลเบริล เป็นแร่เบริลเลียมอะลูมิเนียมซิลิเกต ซึ่งพลอยอื่นๆ ที่อยู่ในตระกูลเดียวกันก็มีมรกต (emerald) เป็นเบริลสีเขียว มอร์กาไนต์ (morganite) เป็นเบริลสีชมพูไปจนถึงสีพีช เฮลิโอดอร์ (heliodore) เป็นเบริลสีเหลืองถึงสีเหลืองทอง บิกซ์ไบท์ (bixbite) เบริสีสีชมพูไปจนถึงสีแดง โกเชไนต์ (goshenite) เป็นเบริลสีใสหรือไม่มีสี ดังนั้นแล้วหากอัญมณีเบริลใดๆ ที่ไม่ใช่สีฟ้าก็จะไม่ใช่อะความารีน
คำว่าอะความารีนมาจากภาษาละติน “Aqua” แปลว่า น้ำ “Mare” แปลว่า ทะเล ชื่อเรียกอะความารีนจึงบ่งชี้ถึงสีที่คล้ายกับน้ำทะเลนั่นเอง
อะความารีนเป็นตัวแทนของน้ำทะเล ชื่อมีความหมายว่า “น้ำทะเล” เป็นที่รู้จักในฐานะอัญมณีของกะลาสีเรือเพื่อให้เดินทางข้ามทะเลที่มีพายุได้อย่างปลอดภัย อะความารีนยังหมายถึงความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญ และมิตรภาพ อะความารีนเป็นอัญมณียอดนิยมที่คนนำไปทำเป็นเครื่องประดับมาหลายพันปี
ตามความเชื่อที่ผ่านมาหลายศตวรรษ มีการนำอะความารีนมาใช้เป็นเครื่องรางของขลังในการป้องกันอุบัติเหตุและอันตรายต่างๆ และอะความารีนยังช่วยนำพาความสงบ แก้ไขความฟุ้งซ่าน ทำให้มีแต่ความสุขกายสบายใจ ช่วยให้มีความอดทนสูง ก่อให้เกิดความกล้าหาญ และขจัดความเกียจคร้านทั้งปวง
สีของอะความารีน
สีของอะความารีนมีตั้งแต่สีฟ้าอ่อน สีฟ้าน้ำทะเล ไปจนถึงสีน้ำเงินเข้ม สีเข้มมีราคามากที่สุด ยิ่งเป็นสีน้ำเงินที่อิ่มตัวลึกยิ่งเป็นที่ต้องการมากและมีค่ามากที่สุด เกณฑ์ที่สำคัญที่สุดในการประเมินราคาอะความารีนคือความเข้มของสี แม้ว่าผู้ซื้อบางรายอาจชอบพลอยอะความารีนที่มีสีเขียวอ่อนระยิบระยับ แต่พลอยที่มีค่าที่สุดคือพลอยสีน้ำเงินที่สะอาด มีความใสบริสุทธิ์
คุณภาพของสีมีผลต่อราคาอะความารีนอย่างมากที่สุด มีอะความารีนบางสีเป็นสีฟ้าที่มีโทนสีเทาแกมมาซึ่งพบได้ในอะความารีนจากโมซัมบิก หรืออะความารีนที่มีสีเขียวแกมแบบ Seaform อาจเป็นที่ต้องการอย่างมาก ในขณะที่อะความารีนแกมสีเขียวบางชนิดอาจมีมูลค่าน้อย
อย่างไรก็ตาม อะความารีนมีสีน้ำเงินอมเขียวไปจนถึงสีฟ้าอมเขียวนั้น หากเมื่อได้รับความร้อนขจัดสีเหลืองออกไปแล้วมักจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน
แหล่งที่พบอะความารีน
หากเป็นช่วง 100 ปีที่ผ่านมา แหล่งผลิตอะความารีนคุณภาพดียอดนิยมนั้นอยู่ที่ซานตามาเรีย (Santa Maria) ตอนกลางของรัฐฮิวกรังจีดูซูว รัฐทางใต้สุดของประเทศบราซิล หรือ ประเทศมาดากัสการ์ แหล่งที่ดีอื่นๆ ได้แก่ ไนจีเรีย โมซัมบิก แซมเบีย ปากีสถาน แทนซาเนีย แถบเทือกเขาอูราลในประเทศรัสเซีย เวียดนาม ยังมีประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศที่พบและผลิตอะความารีน เช่นในที่อเมริกา ซึ่งส่วนใหญ่มาจากโคโลราโดและแคลิฟอร์เนีย แต่อาจไม่ได้พบมากเท่าบราซิลหรือมาดากัสการ์ โดยอะความารีนจะพบในหินเพกมาไทต์ (Pegmatite) และในหินแกรนิต (Granite)
ราคาของอะความารีน
โดยทั่วไปอะความารีนมีราคาตั้งแต่ 20-600 ดอลลาร์ต่อกะรัต ตามคุณลักษณะของสีและความลึกของพลอย สีฟ้าแกมเขียวเป็นที่ต้องการอย่างมาก ในขณะที่สีอื่นๆ ที่มีสีเขียวมักจะทำให้ราคาน้อยกว่า และมักจะได้รับความร้อนเพื่อขจัดส่วนประกอบสีเหลืองที่เป็นสาเหตุทำให้มีสีเขียวออก
ความสะอาดก็ยังมีผลต่อราคาของอะความารีนอย่างมากด้วยเช่นกัน
พลอยอะความารีนมักพบขนาดค่อนข้างใหญ่ ดังนั้นขนาดจึงไม่มีผลต่อราคามากอย่างพลอยชนิดอื่นๆ และเนื่องจากการที่อะความารีนมีสีอ่อนกว่าพลอยชนิดอื่นๆ จึงทำให้มองเห็นตำหนิต่างๆ ได้ง่ายในเนื้อพลอย ดังนั้นแล้วความใสของพลอยกลับมีผลต่อราคาอย่างมาก
แต่ในวงการอัญมณีได้จัดให้อะความารีนเป็นอัญมณีไทป์วัน (Type 1) ซึ่งเป็นการจัดประเภทคุณภาพของอัญมณีว่ามีความ “สะอาดตา” เพราะพลอยอะความารีนส่วนใหญ่นั้น “สะอาดตา” กล่าวคือ ไม่มีสิ่งเจือปนที่มองเห็นได้ อะความารีนที่มีคุณภาพดีที่สุดคือเม็ดที่สะอาด และปราศจากการเจือปนที่มองเห็นได้ ซึ่งแตกต่างจากอัญมณีชนิดอื่นๆ ซึ่งเป็นตระกูลเบริลเช่นเดียวกันอย่างมรกต พลอยอะความารีนมีความใสและใสเป็นเลิศ ส่องประกายแวววาว ผู้ซื้อส่วนใหญ่มักจะเลือกซื้ออะความารีนเพราะคุณสมบัติดังกล่าว แต่ก็พบว่ายังมีเหตุผลอยู่บางประการที่คนเลือกซื้ออะความารีนที่มีตำหนิ
อะความารีนขนาดเล็กกว่า (น้อยกว่า 5 มม.) มักจะมีสีอ่อนกว่าขนาดที่ใหญ่กว่า เนื่องจากขนาดเล็ก จะจำกัดความสามารถในการแสดงสีฟ้าที่เข้มขึ้น เหมาะกับการนำไปใช้เป็นพลอยข้างเสริมพลอยเม็ดที่ใหญ่กว่า
ยังพบว่าพลอยสีฟ้าที่เป็นที่นิยมเช่นเดียวกัน คือ โทแพซสีฟ้าหรือสีน้ำเงิน ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับอะความารีน
แต่มีข้อแตกต่างกันคือความหนาแน่น ซึ่งสามารถทดสอบโดยการยกพลอยดูได้ หากเป็นโทแพซจะหนักกว่า และโทแพซส่วนใหญ่มักจะมีสีเข้มเกินไปที่จะเป็นอะความารีน
การที่จะระบุว่าพลอยอะความารีนเป็นอะความารีนแท้หรือทำเลียนแบบนั้นยาก หากไม่ใช่อุปกรณ์ตรวจสอบ มีสปิเนลสังเคราะห์ที่ใช้ทำเลียนแบบอะความารีน การแยกสารสามารถทำได้ด้วยเครื่องวัดการหักเหของแสงไดโครสโคป (dicroscope) หรือตัวกรอง Hanneman aqua
การใช้น้ำอุ่นและสบู่ทำความสะอาดอะความารีนจะเป็นสิ่งที่ปลอดภัยเสมอ หากคุณวางแผนที่จะใช้เครื่องทำความสะอาดอัลตราโซนิก (ultrasonic) หรือระบบไอน้ำ (steam cleaner) ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าพลอยไม่มีของเหลวเจือปนหรือแตกหักด้วย เพราะการทำความสะอาดด้วยวิธีนี้อาจทำให้เกิดการแตกหักได้ โดยทั่วไปแล้ว อะความารีนไม่ควรสัมผัสความร้อน แต่ถ้าหากต้องสัมผัสกับแสงสีก็จะยังคงตัวอยู่
การเจียระไนก็มีความสำคัญเนื่องจากพลอยตระกูลเบริลมีมีดัชนีการหักเหของแสงต่ำ ทำให้ต้องเน้นคุณภาพการเจียระไนยิ่งขึ้น อะความารีนจำนวนมากถูกเจียระไนให้ตื้นเกินไปจนเปิดช่องหน้าต่างออกไปทางพาวิลเลียนของอัญมณีอะความารีนที่ได้รับการตัดหรือเจียระไนได้อย่างถูกต้องจะสามารถมีความแวววาวที่โดดเด่นได้