
หากให้นึกถึงอัญมณีคงไม่มีใครไม่นึกถึงเพชร เพราะเวลาที่นึกถึงอัญมณีก็ต้องมีคำว่าเพชรลอยมาก่อนอยู่แล้ว
ทั้งเพชรและพลอยนั้นเป็นแร่อัญมณีด้วยกันทั้งคู่ แต่เป็นคนละชนิดกัน เพชร คือ แร่ที่มีความแข็งระดับ10 เท่านั้น ส่วนพลอยนั้นคือแร่ที่มีความแข็งระดับ 9 ลงไป แต่เอาเข้าจริงๆ ในบรรดาแร่อัญมณีชนิดต่างๆ ที่มีความแข็งระดับ 10 ก็มีเพียงเพชรเท่านั้น อัญมณีอื่นๆ นั้นเป็นพลอย ซึ่งถ้าให้แบ่งเกณฑ์ตามความแข็งนั้น จะแบ่งได้เป็นพลอยเนื้อแข็ง และพลอยเนื้ออ่อน โดยมีหลายประเภท หลายกลุ่มแร่ ยิบย่อยลงไปอีก
เพชรคืออัญมณีที่แข็งที่สุด และแพงที่สุดอันดับหนึ่งของโลก และตามที่ทุกคนเคยได้ยินว่าเพชรเป็นวัตถุที่แข็งที่สุดในโลกนั้นก็เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะหากเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเพชรก็ยังคงความแข็งเป็นที่หนึ่ง อีกทั้งยังมีค่าดัชนีหักเหและการกระจายแสงที่สูงทำให้มีประกายแวววาว ระยิบระยับ เล่นไฟได้ดีกว่าอัญมณีประเภทอื่นๆ จึงถือว่าเป็นอัญมณีที่มีความสำคัญที่สุด มีคุณค่าและราคาสูงกว่าอัญมณีชนิดอื่นๆ และได้รับความนิยมใช้ทำแหวนแต่งงานในหลายวัฒนธรรม ในสมัยก่อนนั้นเพชรเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเจ้าของ ในปัจจุบันนี้เพชรเเป็นสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่นร่วมกันและความรักนิรันดร์
เพชร ชื่อภาษาอังกฤษ Diamond ชื่อนี้มาจากคำภาษากรีกโบราณคำว่า adamas ซึ่งมีความหมายว่าไม่สามารถทำลายได้ เพชรเป็นอัญมณีที่มีชื่อเสียงด้านความแข็ง เป็นแร่ที่แข็งที่สุดตามมาตรวัดความแข็งของโมห์ส (Mohs Hardness Scale) อยู่ที่ระดับ 10 เพชรแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะแตกหรือเป็นรอย

ภาพ เพชรคืออัญมณีที่มีความแข็งสูงสุดในกลุ่ม
ภาพ เพชร เป็นอัญมณีรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นผลึกที่บริสุทธิ์ของคาร์บอน (Carbon) โดย Björn Wylezich

ภาพ โครงสร้างของอะตอมคาร์บอนของเพชรเป็นทรงลูกบาศก์ แตกต่างกับแกรไฟต์ (ไส้ดินสอ)
เพราะว่าเพชรคือผลึกของคาร์บอน ในเชิงเคมีเพชรจึงมิได้แตกต่างจากถ่านที่เราใช้ย่างเนื้อ ไส้ดินสอที่ใช้เขียน หรือถ่านหินที่ให้ความอบอุ่นในบ้านและโรงงาน แต่สิ่งที่แตกต่างคือ คาร์บอนที่ประกอบขึ้นเป็นเพชร ได้ถูกความร้อนและแรงกดดันสูงบีบอัด จนกลายเป็นผลึกที่มีความแข็งแกร่งอย่างยิ่งยวด
เพชรเกิดการก่อตัวขึ้นเมื่อหลายร้อยปีก่อน ในเปลือกโลกชั้นใน เปลือกโลกชั้นใน จะอยู่ลึกลงไปจากเปลือกโลกชั้นนอกหลายไมล์ ในบริเวณนี้มีชั้นหินที่เคลื่อนที่ทำให้คาร์บอนมีอุณหภูมิสูงหลายร้อยองศาฟาเรนไฮต์ และแรงดันหลายล้านปอนด์ต่อตารางนิ้ว คาร์บอนที่อยู่ภายใต้แรงดันดังกล่าว ได้รับการปรับโครงสร้างใหม่ให้มีลักษณะเป็น “ก้อนผลึก” ที่แข็งแรงมาก
แต่คาร์บอนก็ไม่ได้เป็นคาร์บอนที่บริสุทธิ์เสียทีเดียว เนื่องจากมีไนโตรเจนเหลวและธาตุอื่นๆ ปะปนอยู่เล็กน้อย
การปะทุของภูเขาไฟทำให้เพชรขึ้นมาสู่พื้นผิวโลกในรูปของหินหนืดและกลายเป็นธาตุลาวาที่แข็งตัว
อีกทั้งยังทำให้เกิด “ปล่องคิมเบอร์ไลท์ (kimberlite pipe)” ตามแหล่งต่างๆ บนโลกอีกด้วย
ปล่องคิมเบอร์ไลท์ คือ “ปล่อง” ลักษณะเป็นท่อยาว เป็นช่องทางที่ภูเขาไฟนำพาสินแร่เหลวต่างๆ ขึ้นมาใกล้ผิวโลก ซึ่งเพชรได้ปะปนอยู่ในนั้นด้วย



ต่อมาเมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา หรือเกิดการ “เคลื่อนตัว” ของเปลือกโลก และการผุกร่อนตามธรรมชาติ ทำให้ปล่องคิมเบอร์ไลท์ปรากฏขึ้น ลมและน้ำค่อยๆ กัดเซาะหินที่หลุดออก ทำให้ผลึกเพชรที่ฝังอยู่ภายในค่อยๆ หลุดออก เพชรดิบตามธรรมชาติจะถูกชะล้างให้ไหลไปตามแม่น้ำลำคลอง และมีจำนวนมากที่พัดไปไกลถึงทะเล เพชรเหล่านี้จะปะปนไปกับกรวดทรายก้นแม่น้ำและมักถูกฝังไว้ใต้พื้นทรายซึ่งน้ำหนักนับเป็นตันๆ อีกครั้ง
ในยุคแรกมีการค้นพบเพชรในก้นแม่น้ำและทะเล ซึ่งห่างไกลจากแหล่งกำเนิดเพชรในแถบภูเขาไฟ ในบางส่วนของโลก เช่น เซียร์ราลีโอ (Sierra Leone) ผู้คนจะค้นหาเพชรตามแม่น้ำที่ผลึกเพชรถูกทับถมไว้ แต่ในบางพื้นที่พวกบริษัททำเหมืองใช้เครื่องจักรช่วยในการขุดหาผลึกเพชร
แต่เนื่องจากความอยากได้อัญมณีสีขาวล้ำค่าประเภทนี้ยังคงมีอยู่และความต้องการก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มนุษย์จึงพยายามสืบหาต้นกำเนิดของเพชร และมีการขุดปล่องเพชรกันเรื่อยๆ และยังมีการขุดปล่องเพชรที่อยู่ลึกลงใต้ผิวโลกอีกด้วย ซึ่งเป็นการใช้ทุนมหาศาล
ในบางแห่งของโลก เช่น แอฟริกาและไซบีเรีย พบว่ามีเหมืองที่ขุดในปล่องภูเขาไฟเก่าแก่ที่ดับลงแล้ว เป็นการขุดบ่อให้ลึกลงไปจากชั้นหินเรียกว่า “การทำเหมืองแบบบ่อเปิด (Open Pit Mining)”
โดยเมื่อได้ขุดบ่อลึกเกินกว่าที่จะค้นหาเพชรจากด้านบนแล้วก็จะฝังปล่องลงไปให้ขนานกับสายแร่เพชรและทำอุโมงค์ลอดใต้ภูเขาให้ทะลุไปยังสายแร่นั้น ซึ่งเฉลี่ยแล้วหินผลึกเพชรประมาณ 50 ตัน เมื่อผ่านกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ของการเจียระไนแล้วจะได้เพชรแค่ 1 กะรัต เทียบอัตราส่วนได้ 1 ต่อ 250 ล้านส่วนเลยที่เดียว เห็นได้ว่ากรรมวิธีการทำเหมืองเพชรเป็นวิธีที่ต้องใช้ทุนอย่างมหาศาล
เพชรมีหลายสี โดยสีที่นิยมที่สุดคือสีขาวบริสุทธิ์ ส่วนสีที่หายากคือสีแดง ฟ้า เขียว ส้ม ชมพู เรียก “แฟนซีคัลเลอร์ไดมอนด์” ซึ่งมีราคาสูงกว่าเพชรสีขาวเสียอีก
โดยทั่วไปการเจียระไนเพชรกลม เป็น 57 เหลี่ยม (หากรวมก้นเพชรรวมเป็น 58 เหลี่ยม) หรือ ที่เรียกว่าเหลี่ยมเกสร นับว่าสวยที่สุด เพชรเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ ความแข็งแกร่ง แหล่งของเพชรมีอยู่ทั่วโลก ส่วนมากพบที่บราซิล แคนาดา รัสเซีย ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้

อ้างอิงเนื้อหา:
https://th.wikipedia.org/wiki/เพชร
https://www.git.or.th/diamond.html
Thailand Gems & Jewelry Industrial Profile_อุตสาหกรรมเจียระไนเพชร.pdf https://www.techglads.com/cse/sem1/diamond-and-graphite/ https://www.mining-technology.com/features/feature-the-worlds-top-10-biggest-diamond-mines/