Posted on

มาดูกันว่าเพชรแท้และเพชร CZ ต่างกันอย่างไรบ้าง

ได้ของปลอมหรือลาภลอย? Daniel Anania จาก Anania Jewellers ในซิดนีย์แบ่งปันภาพแหวนสองวงเคียงข้างกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าการแยกแยะเพชรแท้และเพชรปลอมด้วยตาเปล่านั้นยากเพียงใด อันหนึ่งมีมูลค่า 10,950 เหรียญออสเตรเลีย (ราวๆ 240,000 บาท) ในขณะที่อีกอันมีมูลค่าเพียง 500 เหรียญออสเตรเลีย (ราวๆ 11,000 บาท)

อ้างอิง จาก www.dailymail.co.uk

ถ้าหากคุณชื่นชอบหรือหลงใหลในเรื่องการแต่งกายด้วยเครื่องประดับ คุณคงรู้จักเพชรหรือพลอย CZ (ซีแซด) หรือเพชรคิวบิกเซอร์โคเนีย (Cubic Zirconnia) และคุ้นเคยดีอยู่แล้วว่า CZ เป็นอัญมณีสังเคราะห์ชนิดหนึ่งที่ทำขึ้นมา มีรูปลักษณ์คล้ายเพชรมาก

ยังพบว่ามีชื่อเรียกอื่นๆ ที่คนไทยเรียกว่า “เพชรรัสเซีย”  “เพชรสวิส”  “เพชรเบลเยี่ยม” อีกด้วย เพราะถูกเรียกตามแหล่งประเทศที่ผลิต ซึ่งก็มักจะได้แก่ รัสเซีย สวิสเซอร์แลนด์ อเมริกา และประเทศอื่นๆ ทางแถบยุโรปตะวันออก เป็นต้น 

Cubic Zirconia นั้นได้มีมานานแล้ว โดยปัจจุบันนั้นเป็นที่นิยมและเป็นที่รู้จักเนื่องจากมีราคาย่อมเยาว์และให้ความวิบวับแก่ผู้สวมใส่ได้เหมือนเพชรแท้  แต่ก็ยังเป็นเพียงอัญมณีสังเคราะห์ประเภทหนึ่งที่เป็นตัวเลือกให้คุณนำไปใช้สวมใส่แทนเพชรแท้ได้  มันยังเป็นอัญมณีสังเคราะห์คนละประเภทกับเพชรสังเคราะห์ (Lab-created diamond) ที่ทำขึ้นมาเพื่อเลียนแบบเพชรแท้โดยเฉพาะจริงๆ  มีข้อแตกต่างกันระหว่าง เพชร CZ กับ เพชรสังเคราะห์ คือ โครงสร้างแร่ที่แตกต่างกันมาก เพชรสังเคราะห์จะมีโครงสร้างเป็นคาร์บอนเหมือนกันกับเพชรแท้ ในขณะที่ CZ เกิดจากรูปแบบผลึกลูกบาศก์ของเซอร์โคเนียมไดออกไซด์ (zirconium dioxide : ZrO2) ที่มนุษย์สร้างขึ้นและไม่มีสี  มีคุณภาพหลายเกรด

ภาพ โครงสร้างของ Cubic Zirconia กับ เพชร จาก www.stellarnet.us

เรื่องราว CZ เริ่มมาตั้งแต่ปี 1937 เมื่อผลึกธรรมชาติ (Cubic) ของแร่ Zirconim Oxide ถูกค้นพบโดยนักวิทยาศาตร์ชาวเยอรมัน แต่ต้องรอจนถึงปี 1970 เมื่อนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียสามารถจำลองผลึกแร่ชนิดนี้ได้ในห้องแล็บ 

ปี 1980 CZ ได้ถือกำเนิดขึ้นและเป็นที่ยอมรับในวงการเครื่องประดับเมื่อบริษัท Swarovski ซึ่งมีชื่อเสียงทางด้านผลิต Crystal เริ่มผลิต CZ สำหรับตลาดผู้บริโภคในวงกว้าง กระทั่งการผลิต CZ ได้พัฒนามาจนสามารถมีได้ทุกเฉดสี

ภาพ เฉดสี Swarovski Zirconia จาก www.bluestreakcrystals.com

ความแตกต่างระหว่างเพชร CZ และเพชรแท้นั้น คุณสามารถเปรียบเทียบได้จากคุณสมบัติทางกายภาพ และคุณสมบัติทางเคมี  หากทราบถึงข้อแตกต่าง ก็จะช่วยให้คุณตัดสินใจเลือกซื้อเอาไปทำเครื่องประดับได้อย่างเหมาะสม 

เรื่องของความสะอาด (Clarity)
ความสะอาด หมายถึง ความใสของเพชรหรือพลอย เป็นปริมาณของมลทิน หรือแร่ธาตุที่ติดมาอยู่ภายในเพชรหรือพลอย  ซึ่งโดยปกตินั้น หากเป็นเพชรแท้ที่เกิดตามธรรมชาตินั้นจะต้องถูกขุดขึ้นมาจากพื้นดิน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เพชรเหล่านั้นจะมีความไม่สมบูรณ์ และเพชรจำนวนมากที่พบก็ไม่เหมาะสำหรับเป็นเครื่องประดับ เพชรที่ขุดได้อาจดูเหลืองเล็กน้อยหรือหมองได้ เพชรเกรดสูงสุดก็จะเป็นเพชรที่มีความใสสะอาดหมดจด เพชรที่ไร้ตำหนินั้นหายากมากและมีราคาแพงมาก แต่เพชร CZ นั้นผลิตขึ้นในห้องปฏิบัติการ จึงปราศจากข้อบกพร่องตามธรรมชาติที่พบในเพชรแท้ ซึ่งหมายความว่ามีความใสเกือบสมบูรณ์แบบ ราวกับเพชรที่ไร้ตำหนิ สิ่งนี้อาจทำให้ CZ ดูปลอมได้เพราะดูสมบูรณ์แบบเกินไป แต่ถ้าหากคุณต้องการใช้เพชรหรือพลอยที่เน้นความใสสะอาดจริงๆ CZ ก็อาจจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมมากกว่า 

สี (Color)
ปกติแล้วผู้ซื้อเพชรจะพยายามเลือกเพชรให้ขาว  แต่ว่าเพชรแท้มักจะไม่ค่อยขาวสนิท แม้แต่เพชรคุณภาพสูงก็อาจมีสีเหลืองเล็กน้อยได้ เพราะเพชรแท้จะมีแร่ธาตุอื่นๆ รวมอยู่ด้วย แต่ในทางกลับกัน เพชร CZ จะได้รับการผลิตให้ไร้สีโดยสิ้นเชิง และพบว่ามักจะสะท้อนแสงสีส้ม ซึ่งทำให้บ่งบอกได้ง่ายๆ ว่า CZ ไม่ใช่เพชรแท้


ความส่องสว่าง (Brilliance)
วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะแยกเพชรแท้และ CZ ออกจากกันได้ คือการตรวจสอบภายใต้แสงธรรมชาติ เพชรแท้จะมีความแวววาวเป็นธรรมชาติโดยให้แสงสีขาวบริสุทธิ์ ในขณะที่ CZ  ให้แสงสีรุ้งอย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากการกระจายแสงที่มากเกินไป แต่คำถามที่ว่าจะใช้เพชรแท้ หรือ CZ ดีกว่ากันนั้นก็ขึ้นอยู่กับความชอบ ว่าคุณชอบแสงสีขาวแบบเพชรหรือชอบสีสว่างๆ ของ CZ มากกว่ากัน

ความทนทาน (Durability)
เพชรเป็นแร่ธาตุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่แข็งที่สุดในโลก โดยมีระดับความแข็งตามสเกลของ Mohs อยู่ในระดับ 10 ความทนทานและความยืดหยุ่นสูงทำให้เพชรเหมาะนำไปใช้ทำเครื่องประดับสำหรับงานหมั้น แหวนแต่งงาน หรือเครื่องประดับที่ต้องสวมใส่ทุกวัน โดยเพชรนั้นไม่ต้องอาศัยการดูแลรักษามากมายก็สามารถคงความงามและประกายวิบวับได้อย่างดี  แต่ CZ มีค่าเพียง 8.5 ในสเกล Mohs ซึ่งหมายความว่ามีความทนทานในระดับหนึ่ง แต่เทียบไม่ได้กับเพชรแท้  (แข็งพอ ๆ กับพลอยเนื้อแข็ง เช่น ทับทิม และแซปไฟร์) และความคงทนจะไม่มีอายุยาวไปกว่าเพชรและแน่นอนว่าจะต้องมีรอยและขุ่นมัวเมื่อเวลาผ่านไป CZ จึงไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการนำไปสวมใส่เป็นเครื่องประดับทุกวันได้อย่างเพชร

ข้อควรพิจารณา

  • สุดท้ายแล้ว CZ จะสูญเสียประกายวิบวับ และขุ่นมัวลงเนื่องจากการขีดข่วน สิ่งสกปรก สบู่ สารตกค้าง และการสัมผัสกับออกซิเจน ขึ้นอยู่กับสาเหตุของความหมองมัว ซึ่งมีโอกาสในการฟื้นฟูให้ CZ ยังคงอยู่ในสภาพเดิมนั้นมีทั้งที่เป็นไปได้หรือไม่ได้ก็ได้ 
  • เหลี่ยมเพชร ถ้าใช้กล่องขยาย10X ส่องดูจะเห็นว่าเหลี่ยมของเพชรแท้คมกว่า CZ 
  • เพชรแท้ คนที่ดูไม่เป็นจะเสี่ยงถูกหลอกได้ว่าเป็นเพชรเกรดดี Belgium Cut แต่ที่จริงอาจเป็นเพชร Indian Cut เกรดต่ำลงมาก็ได้ 


ความหนาแน่น (Density)
Cubic zirconia มีความหนาแน่นมากกว่าเพชรเล็กน้อย ผู้ขายอัญมณีจะสามารถแยกแยะความแตกต่างของทั้งสองได้อย่างง่ายดายโดยใช้ตาชั่งเพื่อชั่งน้ำหนัก ในน้ำหนักกะรัตที่เท่ากันนั้น CZ จะดูมีขนาดเล็กกว่าเพชรเล็กน้อย

ราคา (Price)
เหตุผลหลักที่ CZ เป็นที่นิยมมากก็คือราคาที่ถูกกว่าเพชรแท้มาก โดยเฉลี่ยแล้วCZ 1 กะรัตจะมีราคาประมาณ 1 ใน 100 ของราคาเพชรแท้ 1 กะรัต แต่ว่า CZ นั้นอาจจะเอาไปขายต่อไม่ได้ หรืออาจได้มูลค่าเพียงเล็กน้อย เพราะเป็นอัญมณีสังเคราห์ที่มูลค่าน้อย แต่ในขณะที่เพชรมักจะขายต่อได้อย่างน้อย 50% ของราคาเดิม  

CZ สวยเหมือนเพชรแท้ เวลาสวมใส่คนจะดูไม่ออกว่าเป็น CZ หรือเพชร แต่ราคานั้นต่างกันมาก CZ ราคาหลักร้อยถึงพัน แต่เพชรแท้ราคาหลักหมื่นขึ้นไป 

จากข้อแตกต่างทางคุณสมบัติที่กล่าวมานั้น นักอัญมณีศาสตร์มีความเห็นตรงกันว่า CZ มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับเพชรธรรมชาติมาก สำหรับคนทั่วไปแล้ว หรือแม้แต่นักอัญมณีศาสตร์ แทบจะไม่สามารถแยกความแตกต่างได้ด้วยตาเปล่า
แต่พบว่ามีข้อโต้แย้งระหว่างเพชรแท้ และ CZ ในแง่ของความสวยงาม ซึ่งขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคล บางคนชอบแสงหลากสีสันที่สะท้อนจาก CZ ในขณะที่บางคนชอบแสงสีขาวสว่างจ้าที่ส่องมาจากเพชร ท้ายที่สุดแล้ว ไม่มีคำตอบที่แน่นอนว่าต้องเป็น CZ หรือเพชรที่จะมีความงามมากไปกว่ากัน แม้ว่าความสวยงามของเพชรจะคงทนได้นานกว่า CZ อยู่มากก็ตาม

ดังนั้น หากคุณกำลังมองหาตัวเลือกที่ถูกกว่าเพชร แต่ยังมีรูปลักษณ์คล้ายเพชรพ่วงมาด้วยความสะอาดและสีซึ่งไร้ที่ติ Cubic zirconia จะเป็นตัวเลือกที่สมบูรณ์แบบสำหรับคุณ แต่ถ้าหาก “ความทนทาน” และ “มูลค่าการขายต่อ” ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคุณอยู่ เพชรก็จะยังเป็นอัญมณีที่คุณต้องเลือกอยู่ดี

อ้างอิงเนื้อหา:
https://trulyexperiences.com/blog/cubic-zirconia-vs-diamond/
https://www.umasilver925.com/article/3/เพชร-cz-คืออะไร
https://th.wikipedia.org/wiki/คิวบิกเซอร์โคเนีย